WHA ลดค่าธรรมเนียม 10% ยาว 6 เดือน

แฟ้มภาพ

WHA ใจถึงหั่นค่าบริการในนิคม 10% ยาว 6 เดือนถึง ก.ย. 63 อุ้มลูกค้ายอมรับโควิด-19 กระทบยอดขายนิคม ต้องเลื่อนเซ็นสัญญา-เลื่อนเปิดนิคมระยอง 36 รอลุ้นหลังคลายล็อกดาวน์ทบทวนเป้าหมายใหม่กลางปี คงเป้าโต 15% พร้อมปรับโปรเจ็กต์ดูดนักลงทุนต่างชาติ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทได้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าในนิคมซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการปรับลดค่าสาธารณูปโภคภายในนิคมลง 10% จากปกติ เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากเดือนมีนาคม-กันยายน 2563 เนื่องจากลูกค้าบางรายมีคำสั่งซื้อลดลงต้องปรับลดกำลังการผลิต หรือหยุดโรงงานชั่วคราวเป็นเวลา 4-6 เดือน ทำให้ไม่มีรายรับ แต่ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าแรงงาน

ทั้งนี้ ภาพรวมของ WHA ไตรมาส 1/2563 พบว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มสาธารณูปโภค ส่วนกลุ่มโลจิสติกส์ยังไปได้ดี เพราะมีโครงการรับออกแบบ built to suit ยังเดินหน้าต่อไปได้ จากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีเพียงลูกค้าโลจิสติกส์จากจีน ที่เดิมมีกำหนดจะมาเซ็นสัญญารับมอบพื้นที่ในเดือนมีนาคม ยังไม่สามารถเดินทางมาได้เพราะติดปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทางกลุ่มลูกค้าจึงไม่สามารถจัดตั้งบริษัทได้ จึงขอเลื่อนระยะเวลาเปิดดำเนินการออกไปในเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่กลุ่มพลังงานยังไปได้ดี ผลจากการปิดเมืองยังมียอดการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะโรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเหล็ก ส่วนกลุ่มน้ำยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จึงต้องมีการลดการใช้น้ำ

“ยังคงวางเป้าหมายยอดขายไว้ที่การเติบโต 15% จากปี 2562 จะรอประเมินสถานการณ์ของผลประกอบการครึ่งปีแรกก่อนจะทบทวน ก่อนหน้านี้เราประเมินว่าการระบาดจะพีกในเดือนเมษายน ซึ่งก็ผ่านไปได้ดี แต่หลังจากกลับมารีสตาร์ตธุรกิจเราต้องดูสถานการณ์ระบาดระลอกที่ 2 หรือ second wave ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่าอาจจะรุนแรงกว่ารอบแรก 3 เท่าก็ต้องดูก่อน ซึ่งจากสถานการณ์อย่างนี้เรายังมีการติดต่อกับลูกค้าที่สนใจตลอด โดยใช้วิธีนำเทคโนโลยีมาช่วย ใช้ภาพถ่ายจากโดรนส่งให้ลูกค้าดู ซึ่งรายเล็กที่มีการลงทุนน้อยกว่า 100 ไร่ ก็นิยมใช้วิธีนี้ไม่ต้องเดินทางมา แต่รายใหญ่ที่ต้องการพื้นที่มากกว่า 100 ไร่ก็ยังชะลอดู แต่หลังจากโควิด-19 นักลงทุนอาจจะหันจากจีนมาไทยมากขึ้น”

สำหรับแผนการลงทุนของบริษัทที่วางไว้ 9,000 ล้านบาท สัดส่วนกลุ่มละ 3,000 ล้านบาทยังคงไม่ได้ปรับลดวงเงิน ซึ่งหากมีโปรเจ็กต์ใหม่ เช่น ในกลุ่มโลจิสติกส์ก็ยังเป็นไปตามแผน ส่วนกลุ่มนิคมเรามีที่ดินอยู่แล้ว เพียงแค่จะเน้นลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถดีเลย์ได้ตามสถานการณ์

“การเปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมระยอง 36 ซึ่งเป็นนิคมแห่งที่ 12 ยังต้องชะลอออกไปเป็นครึ่งปีหลัง เนื่องจากต้องรอผลการพิจารณาเรื่อง EIA ซึ่งล่าช้าหลังจากโควิด-19 ทำให้การทำงานเป็นแบบเวิร์กฟอร์มโฮม กระบวนการต่าง ๆ จึงล่าช้า ส่วนแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนที่เราแสดงความสนใจจะร่วมลงทุน แต่จนถึงขณะนี้ยังรอความชัดเจนของทางภาครัฐเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม บริษัทและกลุ่มลูกค้าในนิคมยังคงรักษามาตรการด้านความปลอดภัย และมีการจัดทำแผนบริหารความต่อเนื่องขององค์กร (BCP) ซึ่งต้องป้องกันเพื่อไม่ให้การทำงานสะดุด เราจำกัดพื้นที่ให้พนักงานที่เกี่ยวข้องมีที่พักที่อยู่ใกล้ เช่าโรงแรมบริเวณใกล้พื้นที่เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรต้นทุนมูลค่า 1,277.8 ล้านบาท ลดลง 66.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผล

ให้กำไรขั้นต้นและส่วนแบ่งกำไรมูลค่า 385.7 ล้านบาท ลดลง 64.1% และกำไรสุทธิ 99.3 ล้านบาท ลดลง 75.6% อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะตัวเลขรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานไม่รวม deferred revenue item หรือรายการรับรู้รายได้รอตัดบัญชีจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ WHABT ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2558 แต่ต้องมาแจ้งบันทึกในผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 15 จะมีมูลค่า 1,399.5 ล้านบาทลดลง 6.5% และกำไรสุทธิจากการดำเนินการ 196.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 26.1% เป็นผลจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.69% และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมในธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 55.9% ขณะที่รายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลดลง 41.8% รายได้จากการขายและให้บริการระบบสาธารณูปโภคลดลง 4.5%