ส่งออกไทย เม.ย. 63 โต 2.12% ต่อเนื่องเดือนที่ 2

file. Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

การส่งออกไทยเดือนเมษายน 2563 ขยายตัว 2.12% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ผลจากส่งออกสินค้าเกษตร อาหารเติบโต ขณะที่คาดการส่งออกไตรมาส 2 โอกาสติดลบ ปัจจัยกระทบยังเป็นเรื่องของโควิด-19 ส่วนปัญหาสงครามการค้าไม่กระทบต่อส่งออกไทย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกไทยเดือนเมษายน 2563 ขยายตัว 2.12% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มีมูลค่า 18,948 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกที่ขยายตัวเป็นผลมาจากสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว เพิ่มขึ้นจากความต้องการโดยเฉพาะข้าวส่งออกขยายตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือนถึง 23.10%

ขณะที่ ส่วนการนำเข้าเดือนเมษายน 2563 หดตัว 17.13% มีมูลค่า 16,486 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การค้าไทยเกินดุล 2,462 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออก 4 เดือนแรกของปี (มกราคม-เมษายน 2563) ขยายตัว 1.19% มีมูลค่า 81,620 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออก 4 เดือนแรกหดตัว 0.96% ขณะที่การนำเข้า หดตัว 5.72% มีมูลค่า 75,224 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 6,396 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.0% สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่เย็นและแปรรูป ไก่สดแช่เย็นและแปรรูป อารหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงอาหาร ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม โดยส่งผผลให้การส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกร หดตัว 1.4% ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 4.0% สินค้าที่ยังขยายตัวดี เช่น ทองคำ ยานพาหนะอื่นๆและส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เป็นต้น ส่งผลให้ 4 เดือนแรก สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 2.4%

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า ปัญหาของโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออก โดยเฉพาะหลายประเทศยังมีการล็อคดาวน์ ส่งผลต่อระบบการขนส่งทั้งทางเรือ ทางบกทำให้การส่งออกชะลอตัว ประกอบกับเรื่องของการทำงานที่บ้าน งานด้านเอกสาร ล้วนเป็นผลให้การส่งออกล่าช้า ส่วนสินค้าที่ยังไปได้ดียังเป็นกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า รถยนต์ ชิ้นส่วน อุปกรณ์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ ยอมรับว่าชะลอตับ้างแต่เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น ภายหลังจากที่หลายประเทศที่คลายล็อคดาวน์มากขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องของการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ายอมรับว่าอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคตอยู่บ้าง ซึ่งก็ต้องติดตามอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี หากมีปัจจัยสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องของราคาน้ำมันขยับตัวดีขึ้น โดยมีผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันก็จะทำให้มีมูลค่าการส่งออกดีขึ้น ค่าเงินบาท เป็นต้น ส่วนปัญหาเรื่องของสงครามการค้า ปัจจุบันนี้ยังมั่นใจว่าประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยนี้ โดยการส่งออกไปจีนและสหรัฐ ยังคงขยายตัวและมีทิศทางไปได้ดี ส่วนอนาคตจะมีอะไรที่ต้องจับบ้างว่าสหรัฐจะมีมาตรการใดหรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ยังต้องติดตามต่อไป


ส่วนทิศทางการส่งออก ในช่วงไตรมาส 2 ทางสำนักงานฯ ประเมินว่ามีโอกาสติดลบ ส่วนจะติดลบเป็นเท่าไรนั้นยังไม่สามารถตอบชัดเจนได้ในตอนนี้ ซึ่งรอประเมินการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2563 อีกครั้งก่อน ส่วนการส่งออกของไทยทั้งปี 2563 หากการส่งออกเฉลี่ย 20,400-20,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 0.5% หากต้องการให้ขยายตัวอยู่ที่ 0% ไทยต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 20,598 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหากต้องการให้โต 2% ไทยต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ