จับตา เอกชนนัดถก NGO สัปดาห์หน้า วาระร้อน ร่วม-ไม่ร่วม CPTPP

CPTPP คืออะไร
ภาพ: AFP PHOTO / CLAUDIO REYES

‘สนั่น’ ลุยระดมความเห็นคณะทำงาน CPTPP กกร. นัดแรกวางกรอบการทำงานก่อนหารือ NGO 29 พ.ค.นี้ หวังสรุปผลพิจารณาเสนอ กกร. นัดหน้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ภายใต้ กกร. โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธาน กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุม ร่วมกับนายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) หารือร่วมกับ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมวิชาการเกษตร และบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

เพื่อระดมของคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เตรียมหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด โดยคำนึงถึงผลได้ผลเสียและความพร้อมในการแข่งขันของภาคการผลิตไทยทั้งด้านการค้าสินค้า การลงทุน และประเด็นอื่นๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อตกลง CPTPP รวมถึงประเด็นที่มีความกังวลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะสร้างผลกระทบและความเสียหายกับประเทศไทย

นายสนั่น กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังข้อมูลจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยคณะทำงานจะมีขั้นตอนการรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วน สามารถสรุปประเด็นหลักๆ ประกอบด้วย

1) การเปิดเสรีสินค้า : ภายใต้ข้อตกลง CPTPP ประเทศสมาชิกต้องยกเลิกภาษี 99% ของรายการสินค้าทั้งหมด (มีระยะเวลาในการปรับตัว) ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ผลิตทั้งที่พร้อมที่จะแข่งขันและยังไม่มีศักยภาพการแข่งขัน กลุ่มสินค้าที่คาดว่าประโยชน์จากการส่งออก เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ยานยนต์ และเครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่อาจจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า กาแฟและชา และส่วนประกอบรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเกษตรกรที่เห็นด้วยว่าให้เปิด แต่ต้องมีมาตรการเยียวยา แต่ข้อตกลง CPTPP บอกว่าต้องยกเลิกการใช้การปกป้องสินค้าเกษตร จึงยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่

2) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ : ภายใต้ CPTPP ห้ามมีการให้ “แต้มต่อหรือสิทธิพิเศษ” แก่ผู้ประกอบการไทยเหนือ ประเด็นนี้ยังไม่มีการให้ความคิดเห็นมากนัก ทำให้ยังเป็นประเด็นที่ต้องหาข้อสรุปต่อไป

3) แรงงาน : ภายใต้ CPTPP ให้สิทธิแรงงานต่างด้าวจัดตั้งสหภาพแรงงาน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีข้อกังวลเรื่องนี้ แต่กฎหมายไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่รองรับประเด็นเหล่านี้

4) กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า : วัตถุดิบหรือสินค้าของประเทศสมาชิก CPTPP สามารถนำวัตถุดิบจากนอกสมาชิกเพื่อได้รับสิทธิทางภาษีได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าหรือวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกเท่านั้น

“จากนี้ในวันที่ 29 พฤษภาคม ทางคณะทำงานจะประชุมราวมกับภาคประชาสังคม ก่อนที่จะสรุปรายงานความคืบหน้าเสนอต่อในที่ประชุม กกร. ในต้นเดือนมิถุนายน ต่อไป”

อนึ่ง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เห็นว่าประเด็นการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ของประเทศไทยกระทบกับหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ว่าประเทศไทยจะตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ตาม

กกร. ได้เห็นชอบให้คณะทำงาน CPTPP กกร. ดำเนินการศึกษา ติดตาม และ ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ของประเทศไทย ประโยชน์และผลกระทบจากการเข้าร่วม รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ หากประเทศไทยเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม

ปัจจุบันความตกลง CPTPP มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561 (ค.ศ. 2018) ซึ่งประเทศที่ได้ลงนามสัตยาบันแล้วมี 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เม็กซิโก และ แคนาดา แต่ยังคงเหลืออีก 4 ประเทศที่ยังไม่ลงนามในสัตยาบัน ได้แก่ ชิลี เปรู บรูไน และมาเลเซีย นอกจากนี้ ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม อาทิ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ โคลัมเบีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น