‘เฉลิมชัย’ ตอบคำถามประเด็นเยียวยาเกษตรกร 5 พันบาท

เยียวยาเกษตรกร มาตรการ

รัฐมนตรีเกษตรฯ ไขข้อสงสัยเยียวยาเกษตร ประกันสังคม-ข้าราชการบำนาญ ไม่เข้าข่ายมีสิทธิ์รับ 5,000 บาท ส่วนกรณีเกษตรกรที่ถูกตัดสิทธิ์ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ที่นายทะเบียนของจังหวัดตนเอง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2563

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรณีโครงการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านการแจกเงิน 5,000 บาท หลักเกณฑ์เบื้องต้นที่จะได้รับเงินเยียวยา เริ่มจากการสำรวจทะเบียนเกษตรกร จากนายทะเบียนจำนวน 7 หน่วยงาน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะรวบรวมทะเบียนทั้งหมด เสนอให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดทำทะเบียนเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาที่จะจ่ายเงินให้กับประชาชนที่เข้าข่ายได้รับสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารของเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดรายได้ แบบที่ไม่สามรถปฏิบัติงานได้ตามปกติ ส่วนผู้ที่ยังมีงานทำและสามารถทำงานได้อยู่ ถือว่าเป็นกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากนัก จึงขอเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงๆ ก่อน

สำหรับ กรณีข้าราชการที่ทำการเกษตร ต้องรอให้คณะกรรมการกลั่นรองการใช้เงินกู้ พิจารณาว่ากลุ่มนี้จะสามารถรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ในระยะเวลา 3 เดือน ได้หรือไม่ ส่วนกรณีพี่น้องเกษตรกรที่ถูกตัดสิทธิ์ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ที่นายทะเบียนของจังหวัดตนเอง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2563

“วัตถุประสงค์การเยียวยาในครั้งนี้ รัฐบาลตั้งใจที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาจากผลกระทบของโควิด-19 ทั้งการว่างงาน เดือดร้อนเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเงินก้อนนี้จะเป็นส่วนช่วยพยุงให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ เมื่อมีการดำเนินการโครงการนี้ ก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อกำหนดว่าบุคคลกลุ่มใดที่มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาจากโครงการนี้ โดยคณะกรรมการพิจารณาใช้จ่ายเงินกู้ ได้ออกหลักเกณฑ์และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง 1 ในหลักเกณฑ์คือ เกษตรกรที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ประกันสังคมมาตรา 33 หากบุคคลดังกล่าวถูกเลิกจ้าง หรือถูกพักงาน ประกันสังคมจะเข้าไปดูแลกลุ่มคนเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งจากการประเมินพบว่า ประกันสังคมมีการเยียวยาให้มากกว่า 5,000 บาท ทำให้เมื่อมีหน่วยงานของรัฐเข้าไปดูแลอยู่แล้ว กระทรวงเกษตรฯ จึงไม่ได้ให้สิทธิ์เยียวยาในส่วนของแรงงานภาคเกษตรที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เป็นกรณีเดียวกันกับข้าราชการบำนาญ ที่ถูกกำหนดไว้ว่า ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาภายใต้โครงการนี้ด้วย จึงยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่าใครจะได้หรือไม่ได้ แต่ดูแลในส่วนของการรวบรวมบัญชีเกษตรเท่านั้น” นายเฉลิมชัยกล่าว

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า จำนวนเงินที่ได้มาเป็นเงินกู้ การใช้จ่ายออกไปจึงต้องมีความโปร่งใสตามระเบียนราชการ โดยเสนอที่จะเยียวยาเกษตรกรเบื้องต้นทั้งหมด 10 ล้านราย แต่ตรวจสอบความซ้ำซ้อน ที่จะได้รับเพิ่มเติมจากโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้วเหลือ 8.33 ล้านราย เมื่อตรวจความมีตัวตนแล้ว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะนำมาตรวจสอบความซ้ำซ้อนอีกครั้ง กรณีเกษตรกรอยู่ในระบบประกันสังคม ข้าราชการบำนาญ และซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน จะเหลือตัวเลขประมาณ 7.8 ล้านราย

โดยจำนวนเกษตรกร 7.8 ล้านราย ได้ลงทะเบียนมาก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 แต่ยังมีเกษตรกรบางรายไม่เคยมาทบทวนสิทธิ์ ทางภาครัฐจึงให้ขึ้นทะเบียนใหม่อีกประมาณเกือบ 1 ล้านราย และยังมีอีกกลุ่มที่มีอาชีพเกษตรเช่นกัน แต่ยังไม่มีการเพาะปลูก เพราะติดปัญหาในเรื่องของแล้ง หรือข้อจำกัดต่างๆ ส่วนนี้ภาครัฐจะเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มอีกครั้ง ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 1 แสนราย โดยกลุ่มนี้หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาจากโครงการนี้ จะได้รับเงินเยียวยาก้อนเดียว จำนวน 15,000 บาท