มหานครผลไม้โลกล่ม EEC โดดอุ้ม-เร่ร่อนหาที่ตั้งใหม่

ฤดูผลไม้ภาคตะวันออกของประเทศไทย ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะเกือบจะต้องระส่ำจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การส่งออกไปตลาดหลักอย่างจีนปั่นป่วนไม่น้อย ซึ่งแม้ว่ายอดการส่งออกในไตรมาส 1 ปีนี้จะพอทำให้ชาวสวนใจชื้นขึ้นมาได้ แต่หลายฝ่ายก็ยังต้องเตรียมมาตรการสำรองฉุกเฉินสำหรับช่วงผลไม้ทะลักที่มักจะนำมาสู่วังวนปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำทุกปี และกลายเป็นคำถามถึงมาตรการระยะยาวในการดูแลเสถียรภาพราคาผลไม้ว่าควรไปในทิศทางใด

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขับเคลื่อนโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ Eastern Fruit Corridor (EFC) ขึ้น โดยมี “กระทรวงอุตสาหกรรม” เป็นแม่งาน เป้าหมายเพื่อให้ภาคตะวันออกไทยเป็น “มหานครผลไม้โลก” ภายในปี 2564 หรือเทียบเท่า Food Valley ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยการเป็นศูนย์กลางติดต่อซื้อขายผลไม้กับซัพพลายเออร์ทั่วโลกเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดจีนเพียงอย่างเดียว

ย้ายพื้นที่-ลดขนาด

ในขณะนั้นเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ตื่นเต้นและมีความหวังอย่างมาก เพราะพื้นที่ 37.6 ไร่ส่วนหนึ่งในสมาร์ทพาร์ค ที่อยู่ทางด้านปลายของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ถูกเลือกให้เป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรประมูลผลไม้คุณภาพพรีเมี่ยม ลดปัญหาผลไม้ล้นผลไม้ขาดในแต่ละฤดูกาล โดยการเก็บรักษาด้วยระบบห้องเย็นที่ทาง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) จะเป็นผู้ร่วมลงทุน รวมถึงการนำผลไม้ตกเกรดส่งให้โรงงานแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

แต่ทว่าระหว่างปี 2562 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ทำผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study : FS) อยู่นั้นมีการพูดถึงสถานที่ตั้ง EFC ว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ แม้รัฐจะกำหนดให้เป็นที่ จ.ระยอง แต่ชาวสวนจันทบุรีก็มีความเห็นต่างออกไปว่า จ.จันทบุรีก็มีผลผลิตปริมาณผลไม้จำนวนมากไม่แพ้กัน การตั้งโครงการจึงควรอยู่ที่จันทบุรี เพื่อให้ระบบขนส่งไม่ไกลเกินไป นี่คือหนึ่งปัญหาที่เกิด

ปัญหาที่สอง คือ การวางท่อนำความเย็นจากคลัง LNG ของ ปตท. ซึ่งมีระยะไกลกว่า 10 กิโลเมตร ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ปตท.และ BIG จึงลงขันร่วมทุน 1,500 ล้านบาท จัดตั้งหน่วยแยกอากาศภายใต้ชื่อ บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นทางออก และได้วางศิลาฤกษ์ไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. 2562 และคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2563

แม้จะมีการยืนยันว่าโครงการ EFC ยังมีอยู่ แต่ก็แทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ มาตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ความหวังเกษตรก็ดูเหมือนจะยังไม่เป็นรูปธรรมเสียที ล่าสุดจนถึงขณะนี้การส่งมอบพื้นที่ก็ยังไม่สามารถทำได้ จากปัญหาความไม่เหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งมีแหล่งข่าวในภาคอุตสาหกรรมระบุว่า ได้มีการทบทวนศึกษาพื้นที่ใหม่ที่เหมาะสมกว่า โดยคาดว่าย้ายไปที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง รวมถึงลดขนาดพื้นที่ลง

EEC ผนึก อบจ.-ปตท.

ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) จึงขอดึงโครงการจากมือกระทรวงอุตสาหกรรมกลับไปดูแลเองและบรรจุให้เป็นโครงการหลัก

“นายคณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาฯ EEC) เคยกล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ไว้ว่าที่ต้องดึงโครงการ EFC กลับเข้ามาเป็นโครงการหลักและดำเนินต่อเอง เพราะเพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานของนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในด้านพัฒนาชุมชนและสังคม ลดขนาดพื้นที่เหลือ 23 ไร่อยู่ใน ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง และร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ยกระดับเป็นโครงการหลักให้เกิดการลงทุนปี 2563

ล่าสุด นายชัยวุฒิ สิริเติมทรัพย์ นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันโครงการ EFC ได้เริ่มมีการนับ 1 ใหม่ และเป็นการทำงานร่วมกันของทางภาครัฐและเอกชน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.) สำนักงาน EEC และ ปตท. โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นว่า ทาง อบจ. จะเป็นฝ่ายจัดหาพื้นที่การก่อสร้าง และกลุ่มเป้าหมาย เช่นกลุ่มเกษตรกร ส่วน EEC จะดูแลโครงสร้างโดยรวม ทั้งการตลาด และรูปแบบการขนส่ง และสุดท้าย ปตท. จะดูแลเรื่องก๊าซไนโตรเจน ที่จะมาใช้ในห้องเย็น

ทั้งนี้ เรื่องของพื้นที่การก่อสร้าง ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งจะมีประชุมครั้งที่ 2 ร่วมกันอีกครั้ง โดยจะมีรายละเอียดชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่คาดการณ์จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานภายใน 2 ปี ก็สามารถเห็นโครงการออกมาเป็นรูปธรรมเสร็จสมบูรณ์

ล่าสุดศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 ได้ประกาศเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา “ยกเลิก” โครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินกิจกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง EFC ระยะที่ 1 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ 1 ภายใต้โครงการการพัฒนาผู้ประกอบการและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ปีงบประมาณ 2563 สาเหตุเนื่องจากมีผู้ยื่นสมัครรับการคัดเลือกไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ที่กำหนดในหนังสือเชิญชวน ประกอบกับ การตั้งหน่วยแยกอากาศของบริษัทมาบตาพุดแอร์โปรดักส์ฯ ที่ลงทุนไปแล้วแต่หากมีการย้ายโครงการจริงการลงทุนครั้งนี้จะศูนย์เปล่าหรือไม่ ขณะที่ ปตท. เพิ่งมีนโยบายชะลอการลงทุนหลังเจอพิษโควิด-19 ซึ่งจะรวมถึงโครงการนี้ด้วยอีกหรือไม่ จึงเป็นที่น่าจับตากันต่อไปว่า EFC ต่อให้เป็นประโยชน์กับชาวสวนผลไม้ขนาดไหน แต่หากไม่มีการผลักดันต่อ หลายอย่างไม่เป็นไปตามที่คาด จึงมีโอกาสสูงที่โครงการนี้จะล้มในไม่ช้า