เร่งส่งออกไข่ไก่ 200 ล้านฟองใน 6 เดือน แก้ล้นตลาด

กรมการค้าภายใน เร่งผลักดันส่งออกไข่ไก่ออกต่างประเทศ พร้อมระบายผ่านโครงการธงฟ้า ดันไข่ไก่ออกจากระบบได้ 215 ล้านฟอง ภายใน 6 เดือน แก้ปัญหาล้นตลาด ราคาตก

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ใช้เงินกองทุนจำนวน 50 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือค่าบริหารจัดการ เพื่อผลักดันให้มีการส่งออกไข่ไก่ไปตลาดต่างประเทศจำนวน 200 ล้านฟอง โดยจะช่วยเหลือค่าบริหารจัดการจำนวน 100 ล้านฟอง และอีก 100 ล้านฟอง ภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการผลักดันส่งออก มีเป้าหมายภายใน 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2563 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยง

ทั้งนี้ มีเป้าหมาย 4 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน 2563 ต้องส่งออกให้ได้ 100 ล้านฟอง และ 2 เดือนหลังตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ต้องส่งออกอีก 100 ล้านฟอง สำหรับกองทุนจำนวน 50 ล้านบาท นั้นจะไปช่วยเหลือค่าบริหารจัดการ ให้กับผู้ประกอบการ เช่น ค่ากล่องบรรจุ ค่าขนส่ง ค่าคัดเกรดไข่ไก่ ในอัตราฟองละ 50 สตางค์ ส่วนตลาดเป้าหมายที่จะผลักดันส่งออกไปนั้น เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และเมียนมา เป็นต้น และเชื่อว่าจากนี้จะมีการนำเข้าไข่ไก่จากไทยเพิ่มขึ้น หลังมาตรการต่างๆ ของแต่ละประเทศเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจากขณะนี้ผลผลิตไข่ไก่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 41-42 ล้านฟอง มีการบริโภคในประเทศ 38-39 ล้านฟอง ทำให้เหลือไข่ไก่ส่วนเกินตกวันละ 3-4 ล้านฟอง เพราะจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้สถานการณ์โดยทั่วไป โดยเฉพาะร้านอาหาร ยังเปิดได้ไม่เต็มที่ โรงแรมยังปิดให้บริการ จากการไม่มีนักท่องเที่ยว และโรงเรียนยังอยู่ในช่วงปิดเทอม ทำให้การบริโภคไข่ไก่ลดลงมาก

ทั้งนี้ กรมฯ จะเข้าไปช่วยระบายผลผลิตไข่ไก่อีกจำนวน 15 ล้านฟอง โดยผ่านโครงการจำหน่ายสินค้าธงฟ้า และร้านค้าธงฟ้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ จะดำเนินการประมาณ 2 เดือน และจากการระบายผ่านโครงการของกรมฯและผลักดันส่งออก เชื่อว่า จะทำให้ไข่ไก่ออกจากระบบได้ประมาณ 215 ล้านฟอง เชื่อว่าจะช่วยให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้นไปจนถึงต้นทุนของเกษตรกรที่ฟองละ 2.80 บาทได้ จากปัจจุบันราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.40 บาท และในบางพื้นที่ในต่างจังหวัดเฉลี่ยอยู่ที่ 2 บาท

อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะมีการติดตามสถานการณ์ราคาไข่ไก่อย่างใกล้ชิด จะใช้ไข่ไก่เบอร์ 3 ซึ่งเป็นไข่ไก่ที่คนบริโภคกันมาก โดยใช้เกณฑ์ราคา 3 บาทต่อฟอง หากสูงไปกว่านี้ ก็จะเข้าไปดูแล เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ส่วนเบอร์ 0 เบอร์ 1 ราคาจะสูงกว่านี้ ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้ว

สำหรับการลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์ จะไปหารือกับผู้เลี้ยง เพื่อกำหนดสัดส่วนในการลดปริมาณของแต่ละราย เพื่อให้ปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดลดลง และจะประเมินว่าปริมาณไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดวันละ 41-42 ล้านฟอง มีความเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องหาทางลดปริมาณลงมา เช่น เอาไข่ไปฟัก เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ผลไม้ ข้าว ในภาพรวมมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องผลผลิตและราคาตกต่ำ เพราะกรมฯเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการหลายรูปแบบ และผลผลิตที่ออกมาสามารถบริหารจัดการได้ เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง และผลไม้อื่น ๆที่จะทยอยออกมา รวมทั้งข้าวที่ราคาค่อนข้างดี คาดว่าจะเป็นอีกปีทองของสินค้าเกษตรไทย