ชาวสวนขอแจมพ.ร.ก.เงินกู้ ผุดเขื่อนยางพาราแสนล้าน

Photo by Jonathan KLEIN / AFP

สวนยางขอเอี่ยวงบฯก้อนโต 4 แสนล้านผุดโครงการเขื่อนยางแสนล้านสร้างอาชีพหนีโควิด-19 ระยะยาวหวังกระตุ้นใช้ยางในประเทศ ตั้งเป้าน้ำยางในระบบถึง 5 แสนตัน ชุมชน เกษตรกร รับประโยชน์จากแหล่งน้ำทำเกษตร 7.5 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 สยยท.เล็งเห็นถึงวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกษตรกรสวนยางรายได้ไม่มั่นคง และเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร และคาดว่าหลังจากพ้นวิกฤตนี้จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ประชาชนเริ่มย้ายถิ่นฐานกลับไปทำงานที่ภูมิลำเนา จึงได้เสนอโครงการเขื่อนยางพารา งบประมาณ 1 แสนล้านบาทเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้มีรายได้ในช่วงโควิด-19และภาวะเศรษฐกิจชะลอ และเพื่อกระตุ้นผลักดันการใช้น้ำยางข้นจากเกษตรกร เพื่อยกระดับราคายางให้มีเสถียรภาพ

เบื้องต้น ใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยรูปแบบจะใช้ยางพาราเป็นแนวกั้นน้ำ เพื่อกักเก็บแหล่งน้ำขนาดเล็ก เป็นลักษณะเขื่อนชุมชน โดยสร้างระบบทางน้ำครอบคลุมพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ทั้งเพื่อการเกษตร ตั้งเป้าพื้นที่ 75,000 หมู่บ้าน คาดว่าจะใช้น้ำยางปริมาณ 5 แสนกว่าตัน โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ สยยท.ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายใช้เงินให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิกฤตโควิด-19 ภายใต้งบฯจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

ดังนั้น โดยหลักการของงบประมาณ 4 แสนล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างยั่งยืน หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยเน้น 3 ประเด็น คือ 1.สร้างความเข้มแข็งเพื่ออนาคตของประเทศ จากความได้เปรียบของประเทศไทยในเรื่องสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น เกษตรแปรรูป 2.เน้นความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน รองรับแรงงานในภูมิภาค 3.เน้นความยั่งยืน เพราะในอนาคตจะเกิดชีวิตวิถีใหม่ขึ้น

“การจัดหาแหล่งน้ำสำคัญต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจไทยอย่างมาก หลังจากโควิด-19 อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งอาหารการเกษตรขาดแคลน และโดยเฉพาะภาคแรงงาน ประชาชนเริ่มกลับไปทำงานภูมิลำเนา ซึ่งโครงการเขื่อนยางจะสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน และกระตุ้นการใช้ยางในประเทศแทนที่จะส่งออกไปยังมาเลเซีย หรือตลาดต่างประเทศอย่างเดียวเราจะใช้ไอเดียนำยางพารามาต่อท่อทำที่กั้นน้ำใช้น้ำอุปโภคบริโภคทำประโยชน์ได้หลายทาง” นายอุทัยกล่าว

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กนย.เห็นชอบโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะ 2 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน และเห็นชอบวงเงินกู้ที่รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้ผู้ประกอบการวงเงินรวมไม่เกิน 600 ล้านบาท