อคส.ชงปลดล็อกเงื่อนไขPPP ลุยร่วมทุนเซ็นทรัลผุดมิกซ์ยูสเอเชียทีค2

ลุ้นประธานบอร์ด อคส.คนใหม่ หนุนลงทุนห้องเย็นเก็บผลไม้ แก้ปัญหาราคาผลผลิตดิ่ง ปลดล็อกสัญญาร่วมทุน “เซ็นทรัล” ผุด “มิกซ์ยูสเอเชียทีค 2” แง้มเงื่อนไขสัญญาเช่า 30 ปีพลัส พร้อมสางปัญหา 300 คดีจำนำข้าว-มันค้าง เตรียมเคาะขายข้าวลอตสุดท้าย 4 มิ.ย.นี้ ได้ราคาพุ่ง 12-13 บาท/กก.

พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ อคส.เตรียมเสนอประธานกรรมการ อคส. (นายสุชาติ เดชจักรเสมา) พิจารณาแนวคิดในการลงทุนพัฒนาจัดตั้งห้องเย็น สำหรับบรรจุสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ หอม กระเทียม ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก จนทำให้เกิดปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ

“ประธานเข้ามาใหม่กำลังจะเสนอว่า อคส.ยังมีพื้นที่คลังสินค้าต่างจังหวัดอีก 7-8 พื้นที่ ประกอบกับ เรามีเงิน 800 ล้านหากจัดสรรส่วนหนึ่งมาสร้างห้องเย็น 30 ล้านบาท จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องราคาสินค้า เพราะทุกวันนี้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องผลไม้ หากสร้างห้องเย็นเก็บผลไม้ หรือหอม กระเทียม จะช่วยได้แต่นโยบายของผู้บริหารที่ผ่านมา มุ่งเน้นการแก้ปัญหาค้างจากโครงการรับจำนำ แต่ไม่ได้เน้นการลงทุนใหม่”

พร้อมกันนี้จะเสนอความคืบหน้าในการพัฒนาคลังสินค้าคลังธนบุรี 1 เป็นเอเชียทีค 2 ซึ่งทาง อคส.ได้เสนอนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ พิจารณาดำเนินการคาดว่าหลังจากประธานบอร์ดคนใหม่เข้ามาจะสามารถหาข้อสรุปได้

“โครงการนี้ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน 2562 หรือ PPP ซึ่งกำหนดว่าถ้าเป็นโครงการที่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทสามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องเสนอคณะกรรมการ PPP แต่หากเป็นโครงการที่เกินกว่า 5,000 ล้านบาท จำเป็นต้องเสนอคณะกรรมการ PPP ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางกฎหมาย”

ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวมีขนาด 18 ไร่ ถือเป็นจุดที่มีศักยภาพ ทั้งสะดวกต่อการเดินทางขนส่ง มีทำเลที่เหมาะสมสำหรับพัฒนา และที่สำคัญ อคส.ได้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเสร็จแล้ว ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งไม่มีการต่อต้านคัดค้าน และทาง อคส.ได้ดำเนินการจัดหาเอกชนผู้สนใจร่วมทุน โดยเบื้องต้นได้หารือกับกลุ่มเซ็นทรัล 3 ครั้ง ในรายละเอียดของการดำเนินโครงการ

“จุดที่ต้องใช้งบฯลงทุนติดอยู่ เราได้คุยกับเซ็นทรัลไปกำหนดเงื่อนไขว่า งวดแรกต้องวางเงิน 250 ล้าน เป็นค่าเปิดหน้าที่ จากนั้นดำเนินการต่อ ส่วนอายุสัญญากำลังหารือกันว่าจะมีระยะเวลาเท่าไร ซึ่งเบื้องต้นตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ผมพิจารณาได้ระยะเวลา 30 ปี แต่ทางเอกชนเสนอขอเป็น 50 ปี แนวทางแก้ก็อาจเซ็นสัญญาระยะเวลา 30 ปี แล้วใช้ลักษณะว่า มีคำมั่นสัญญาว่าจะต่อสัญญา เพราะหากกำหนดยาวไปถึง 50 ปี อาจเป็นปัญหาได้”

ส่วนการใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการเบื้องต้น จะพัฒนาเป็นลักษณะมิกซ์ยูส เพราะหากเซ็นทรัลพัฒนาเป็นโรงแรมจะขัดแย้งกับภารกิจของ อคส. ดังนั้น ต้องทำเป็นศูนย์ประชุม/ศูนย์แสดงสินค้าเกษตร มีพื้นที่ขายสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ข้อสรุปกับทางบริษัทนี้ก็อาจพิจารณาหารือกับเอกชนรายอื่นที่อาจสนใจ เช่น สยามพิวรรธน์

นอกจากนี้ จะรายงานความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาคดีค้างจากโครงการจำนำ ซึ่งในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวมีการดำเนินคดีประมาณ 240 คดี ส่วนสินค้ามันสำปะหลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี 40 ราย ตามมติคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง (นบมส.) ที่พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายจากการรับฝากและจำหน่ายมันสำปะหลังในโครงการรับจำนำปี 2551 ก่อนที่คดีจะหมดอายุความในเดือนกรกฎาคมนี้

“ผู้ประกอบการลานมัน 40 กว่าราย รับมอบมันสำปะหลังที่จำนำตั้งแต่ปี 2551 มาจนถึงปี 2563 พบว่า คุณภาพมันเสื่อมซึ่งผิดสัญญาได้เคยตกลงกันว่าผู้เก็บรักษาต้องรักษาคุณภาพมันสำปะหลังให้มีสภาพเดิมเหมือนที่แรกเข้า ทาง อคส.จึงไม่ได้ชำระค่าฝากและต้องฟ้อง ตามมติ นบมส.บอกว่า ซื้อมาเท่าไรให้ขายเท่านั้น และให้ไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายส่วนต่างราคาขายกับราคาจำนำ ซึ่งจะมีส่วนต่างสูงมาก เพราะรับจำนำมันสำปะหลังปี 2551 กำหนดราคาจำนำ กก.ละ 7.50 บาท ขายได้ กก.ละ 0.50 ส่วนต่าง กก.ละ 7 บาท บางรายต้องจ่ายส่วนต่าง 100-200 ล้านบาท”

ในส่วนของผลการประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่เปิดให้ยื่นประมูลเมื่อ 26 พ.ค. 2563 ปริมาณ 2 แสนตันนั้น หลังจากเปิดซองเสนอราคาแล้ว มีผู้มายื่นรวม 39 ราย ทั้งยังมีผู้เสนอราคาสูงสุดถึง กก.ละ 12-13 บาท ทั้งที่เป็นข้าวสารที่ใช้สำหรับผลิตอาหารสัตว์ และเอทานอล ทำให้ทางคณะกรรมการต้องพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติโรงงานที่มาร่วมประมูลอีกรอบว่าสามารถผลิตได้ตามวัตถุประสงค์การประมูลจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการนำข้าวไปเวียนเทียนจำหน่ายเป็นข้าวสารในตลาดส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยคาดว่าจะมีการประชุมสรุปผลอีกครั้งในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ก่อนจะลงนามในสัญญา

“ข้าวในคลังโรงสีสิงห์โตทอง 1.4 แสนตันจากที่นำมาประมูล 2 แสนตัน ยังคงขายไม่ได้ เพราะทางโรงสีดังกล่าวกับ อคส.ยังมีประเด็นติดค้าง ทางโรงสีอาจจะใช้สิทธิยึดหน่วงข้าว ก็จะเป็นปัญหาสำหรับผู้ชนะประมูลรับมอบข้าวไม่ได้อีก แต่ที่เหลือประมาณ 60,000 ตัน ขายได้แต่อาจขาดทุนจากราคาจำนำ เพราะถึงราคาซื้อสูงสุด กก.ละ 12-13 บาท เทียบกับราคาจำนำข้าวเปลือกขณะนั้นสูงถึง กก.ละ 15 บาท การขายขาดทุนก็ยังดีกว่าเก็บไว้ เพราะจะเสียงบประมาณในการเก็บรักษาอีก”