เปิดสถิติส่งออกไทยใช้สิทธิ์ FTA-GSP ไตรมาส 1 ลดลง 9.97%

ภาพประกอบ ข่าวส่งออก

กรมการค้าต่างประเทศ เผยยอดการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ในช่วง 3 เดือนปี 2563 มีมูลค่า 16,249.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากโควิด-19 แต่พบว่า อาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น แนะใช้ประโยชน์จาก FTA และ GSP ดันส่งออก

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ช่วง 3 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) ว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมมูลค่า 16,249.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.97% มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 75.53% ของการใช้สิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 14,911.35 ล้านเหรียญสหรัฐ และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 1,338.37 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA จำนวน 11 ฉบับ (ไม่รวมอาเซียน-ฮ่องกง เนื่องจากภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เป็น 0% อยู่แล้วก่อนที่จะมีความตกลงฯ และไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก) มีมูลค่า 14,911.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 10.95% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.24% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่:

  1. อาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ เครื่องปรับอากาศที่ใช้ติดหน้าต่าง ผนัง เพดาน
  2. จีน สินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด มันสำปะหลัง
  3. ออสเตรเลีย สินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน
  4. ญี่ปุ่น สินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัส
  5. อินเดีย สินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ เครื่องปรับอากาศ ลวดทองแดงอื่นๆ

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (100%) 2) ไทย-เปรู (98.12%) 3) อาเซียน-จีน (84.01%) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (83.13%) และ 5) ไทย-ออสเตรเลีย (75.85%)

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ 1,338.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.62% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.89%

โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุด คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐ และนอร์เวย์ สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ถุงมือยาง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ น้ำผลไม้และน้ำพืชที่ไม่ได้หมักและไม่เติมสุรา หม้อแปลงไฟฟ้าอื่นๆ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

นายกีรติกล่าวว่า จากปัญหาโควิด-19 ทำให้การส่งออกไปบางตลาดลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อาทิ จีน (ลดลง 12.91%) ญี่ปุ่น (ลดลง 11.88%) เกาหลี (ลดลง 10.24%) แต่มีบางตลาดที่มีการขยายตัวของการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อาทิ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ขยายตัว 48.92%) อาเซียน-นิวซีแลนด์ (ขยายตัว 19.16%) เปรู (ขยายตัว 3.72%)

อย่างไรก็ตาม พบว่า การส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปของไทยไปยังประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงทางการค้าเสรี 13 ฉบับ และประเทศที่ให้สิทธิฯ GSP แก่ไทย ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น อาเซียน (AFTA) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม UHT นมถั่วเหลือง

ตัวเลขใช้สิทธิฯ GSP

ขณะที่การใช้สิทธิฯ GSP พบว่า มีหลายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอาหาร เกษตรแปรรูป มีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบ GSP สหรัฐฯ สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 46.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.63%) น้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ไม่ได้หมักและไม่เติมสุรา (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 32.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 50.12%) อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืชหรือผลิตภัณฑ์ธัญพืช (มูลค่าการใช้สิทธิ 4.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.44%) เป็นต้น

ระบบ GSP รัสเซียและเครือรัฐ สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 8.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.81%) สัปปะรดกระป๋อง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 7.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.49%) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ชนิดซารดา) (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 1.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.77%) เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างแต้มต่อและโอกาสในการส่งออก เล็งเห็นว่าการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) 13 ฉบับ และระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จะช่วยการส่งออกไทยได้มาก