คลายล็อกดาวน์เฟส 2 ฟื้นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค แต่จีดีพี Q2 ยังติดลบ

หอการค้าไทยเผย ดัชนีเชื่อมั่นเดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 48.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หลังรัฐมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 คาดติดลบ 10% คงเป้าทั้งปีติดลบ 3.5-5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคา 2563 อยู่ที่ระดับ 48.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.2 ซึ่งฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน หลังจากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายเปิดธุรกิจในระยะที่ 1 และ 2 ในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

รวมไปถึงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทั้งด้านการเงินและการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคต ที่เกิดจากผลกระทบดังกล่าว

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 40.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 259 เดือน หรือ 21 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 39.2 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต (ในอีก 6 เดือนข้างหน้า) ของเดือนพฤษภาคม 2563 ปรับดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน นับตั้งแต่มีนาคม 2562 โดยปรับดีขึ้นจากระดับ 51.4 มาอยู่ที่ระดับ 52.6 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่ตุลาคม 2541

นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ของปี 2563 โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 หรือเดือนพฤษภาคม นี้ซึ่งถือว่าจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะติดลบประมาณ 10%

ขณะที่ทั้งปี 2563 ยังคงประมาณการไว้ที่ติดลบ 3.5-5% ภายใต้สมมติฐานว่าไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ 2 ไม่มีควาเสี่ยงทางการเมืองในเรื่องต่างๆ เป็นต้น ส่วนข้อเสนอแนะ ในช่วงไตรมาส 3 รัฐบาลควรอีดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 200,000 ล้านบาท โดยเน้นการส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่เป็นหลัก

รวมถึงให้รัฐบาลช่วยผลักดันมาตรการซอฟท์โลน 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เช่น

1.รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2 เพื่อให้กิจการห้างร้านต่างๆ ได้กลับมาเปิดดำเนินธุรกิจและประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลายมากขึ้น

2.รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ

3.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เหลือ 0.50% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าประมาณการเดิม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าคาด และผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลกและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบกว่าประเมินไว้

4.การส่งออกของไทยในเดือน เม.ย. มีมูลค่า 18,948.22 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.12% ด้านนำเข้ามีมูลค่า 16,485.89 ล้านดอลลาร์ ลดลง 17.13% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,462.33 ล้านดอลลาร์ ทำให้ช่วง 4 เดือนแรกปี 63 ส่งออกรวมได้ 81,620.29 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.19%

ด้านปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบด้วย 1.ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต 2.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ติดลบ 1.8% ซึ่งติดลบครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 57 รวมถึงการปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ โดยคาดว่าจะติดลบ 5-6% ซึ่งมีค่ากลางติดลบ 5.5%

3.รัฐบาลขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 4.ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ยกเว้นข้าว ส่งผลให้รายได้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดยังขยายตัวไม่มากนัก 5.ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าในระดับโลก ที่ความขัดแย้งเริ่มกลับมาปะทุอีกครั้งระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

6.ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้น 7.เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจาก 32.63 บาทต่อดอลลาร์ ณ เดือน เม.ย. เป็น 32.03 บาทต่อดอลลาร์ ในเดือน พ.ค. เป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลออกจากประเทศไทย