กลาโหมผุดนิคมป้องกันประเทศ หนุนลงทุนผลิต ‘อุตฯอาวุธ’ ลดนำเข้า

กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกลาโหม ดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ S-curve ตัวที่ 11 ตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม เล็งพื้นที่ 1,000 ไร่ขึ้นไปใกล้ EEC คาดรัฐลงทุนเอง ด้าน กนอ.พร้อมหากพื้นที่เป็นของตนเอง และต้องเป็นไปตาม 4 ข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานก่อน “ทอ.” ขานรับหวังไทยผลิตดาวเทียมใช้ในกองทัพเอง ขณะที่บีโอไอให้สิทธิประโยชน์สูงสุด 8 ปี

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้มีการลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ สำหรับโครงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ขนาดหลายพันไร่ซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออก แต่นอกพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้ง 2 กระทรวง ได้มีแนวคิดที่สอดคล้องกัน และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประเทศไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ ชิ้นส่วน ยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศไทยได้เองแทนการนำเข้า
ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วเพื่อใช้ทางการทหาร เช่น โดรน รถหุ้มเกราะที่ใช้ในราชการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศดังกล่าว รัฐหรือเอกชนสามารถลงทุนได้ หากเป็นรัฐลงทุนเองยังคงอยู่ในระหว่างการหารือ ว่าจะเป็นการลงทุนของการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) หรือกระทรวงกลาโหม และเคยมีการระบุพื้นที่เป้าหมายไว้คือชลบุรีและกาญจนบุรี

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามขั้นตอนของการตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อความคุ้มค่าจะต้องมีขนาดพื้นที่ 1,000 ไร่ขึ้นไป และจะต้องดำเนินตามขั้นตอนหลัก 4 ข้อ คือ

1.พื้นที่ ซึ่งต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมและที่สำคัญ “หาก กนอ.จะเป็นผู้ลงทุนเอง พื้นที่ดังกล่าวจะต้องเป็นของ กนอ. หรือสามารถเช่าพื้นที่ของราชพัสดุ กรมธนารักษ์ได้ แต่จะไม่เป็นการเหมาะสมหากเช่าพื้นที่ของเอกชน เพราะจะมีข้อครหาเรื่องของผลประโยชน์ ความไม่โปร่งใส ดังนั้นการพิจารณาดูจากพื้นที่จึงเป็นพื้นฐานขั้นต้นว่าหน่วยงานใดเป็นเจ้าของพื้นที”

2.เอกสารสิทธิ การครอบครองที่ดิน ซึ่งเจ้าของพื้นที่จะต้องมีเอกสารสิทธิชัดเจน ถูกต้อง

3.ไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งการตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่า พวกกลุ่มอุตสาหกรรมไม่สามารถตั้งใกล้พื้นที่ลุ่มน้ำ A1 และ B1 ได้ หรือในบทบัญญัติที่กำหนดไว้ห้ามตั้งโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมในเขตป่าสงวน เป็นต้น

4.ผังเมือง เขตอุตสาหกรรมตามประกาศของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กำหนดไว้อยู่แล้วว่า พื้นที่สีม่วง คือพื้นที่ที่จะสามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ นิคมอุตสาหกรรมก็เช่นกัน

สำหรับขั้นตอนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี หลังจากเลือกพื้นที่เหมาะสมแล้วจะเริ่มเข้าสู่การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (feasibility study :FS) จากนั้นคือการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการให้เป็นจุดเด่นและจูงใจ ประกาศเขต ซึ่งในระหว่างนี้สามารถกำหนดสิทธิประโยชน์ควบคู่กันไป ทั้งส่วนของ กนอ.เองและส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวว่า นอกจากทาง ทอ.จะสนับสนุนเรื่องของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) แล้วนั้น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศจะต้องเกิดขึ้นตามนโยบายรัฐ ล่าสุดเริ่มทำการศึกษาด้าน cyber และดาวเทียม ที่จะมีรูปแบบการทำงานด้านการถ่ายภาพ การเก็บสัญญาณทางอิเล็กทรอนิกส์ การตรวจจับป้องกันอุกกาบาต มิสไซล์ อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ใน ทอ. ที่จะให้คนไทยเป็นผู้ผลิต

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า ในการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศขึ้นมาเมื่อปี 2561 ซึ่งในขณะนั้นคณะทำงานได้ทำการศึกษาและวางกรอบการทำงานของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S-curve 11) ด้วยการกำหนดเป้าหมายไว้ที่การผลิตยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันประเทศใน 3 ด้าน คือ 1.ด้านอธิปไตยและดินแดน เช่น รถถัง โดรน 2.ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ/ยาเสพติด/ไซเบอร์ เช่น จมูกไฟฟ้า เซ็นเซอร์ตรวจจับ และ 3.ด้านความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ข้อมูลบิ๊กดาต้าการเงิน ประวัติคนเข้าออกประเทศ ใบหน้า

ขณะเดียวกันในส่วนของบีโอไอได้ประกาศให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นประเภทกิจการใหม่ที่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเภทกิจการ คือ 1.กิจการผลิตและ/หรือซ่อมยานพาหนะและระบบอาวุธเพื่อการป้องกันประเทศ เช่น รถถัง รถเกราะ ยานพาหนะรบ และยานพาหนะช่วยรบ ได้สิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A2 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี บวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ, ยกเว้นอากรเครื่องจักร, ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี

2.กิจการผลิตและ/หรือซ่อมยานไร้คนขับ (unmanned system) เพื่อการป้องกันประเทศ และชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตและ/หรือซ่อม เช่น ยานภาคพื้น (unmanned ground vehicle: UGV) ยานผิวน้ำ ยานใต้น้ำ หุ่นยนต์สำหรับการปฏิบัติการทางทหาร และหุ่นยนต์ขนาดจิ๋ว เป็นต้น ได้สิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A1 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่ cap วงเงิน) บวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ, ยกเว้นอากรเครื่องจักร, ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี

3.กิจการผลิตและ/หรือซ่อมอาวุธ และเครื่องช่วยฝึกเพื่อการป้องกันประเทศและชิ้นส่วน ด้านการผลิตและ/หรือซ่อมอาวุธ เช่น อาวุธปืน กระสุนปืนระบบจรวด รวมทั้งระบบควบคุม รถยิงหรือสิ่งนำพาไปของระบบจรวด, ชิ้นส่วนเฉพาะที่ใช้ในการผลิตและ/หรือซ่อม ได้สิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม A2 ระบบจำลองยุทธ์และการฝึกเสมือนจริง เช่น ระบบเครื่องช่วยฝึกยานรบเสมือนจริง ระบบเครื่องช่วยฝึกใช้อาวุธเสมือนจริง ระบบสนามฝึกยิงอาวุธประจำกายและอาวุธประจำหน่วย ระบบจำลองยุทธ์ปฏิบัติการร่วม ได้สิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม A1

4.กิจการผลิตและ/หรือซ่อมอุปกรณ์ช่วยรบ ได้แก่ เสื้อเกราะกันกระสุนและสะเก็ดระเบิด แผ่นเกราะหรือโล่ป้องกันกระสุนและสะเก็ดระเบิด ได้สิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม A2 ซึ่งทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานด้านความมั่นคง และต้องได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือมาตรฐานทางการทหารที่กระทรวงกลาโหมกำหนด