“ทียู” ยืนยันจ้างแรงงาน 3 หมื่นกว่าคน ปิดโรงงานปูแปรรูปปากพนัง

“ทียู” ยืนยันจ้างงานต่ออีกกว่า 30,000 ตำแหน่ง 12 โรงงาน หลังจากปิดโรงงานปูแปรรูป ปากพนัง เลิกจ้าง-โยกย้ายพนักงาน 400 อัตรา จากเหตุโควิด

วันที่ 11 มิถุนายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู ประกาศปิดโรงงานอาหารทะเลแปรรูปที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยฐานการผลิตดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตและบรรจุเนื้อปู มีพนักงาน 400 คน มีทั้งพนักงานประจำและลูกจ้างรายวัน ซึ่งทางทียูได้กระจายให้พนักงานบางส่วนโยกย้ายไปทำงานในส่วนอื่นของบริษัท ตามข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 นั้น

สาเหตุหลักที่ปิดโรงงานดังกล่าวมาจากหลาย ๆ ปัจจัยทั้งสถานการณ์และปัจจัยภายนอก รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบที่เหมาะสมภายในประเทศ การขาดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้บริษัทยังไม่มีแผนการปิดโรงงานอื่น ๆ ของทียูในประเทศไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันทียูมีโรงงานในประเทศไทย 12 โรงงาน ประกอบด้วยโรงงานในกรุงเทพฯ 2 โรงงาน โรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร 7 โรงงาน และโรงงานที่จังหวัดสงขลา 3 โรงงาน และมีพนักงานรายวันทุกโรงงานรวม 33,000 คนถือเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุด

ก่อนหน้านี้ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลการประกอบธุรกิจไตรมาส 1 ของทียู แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง กลุ่มอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง และกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง 3 กลุ่ม กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิด คือ อาหารทะเลกระป๋อง ทั้งทูน่า ซาร์ดีน แม็กเคอเรล เนื่องจากใช้ง่าย เก็บได้ง่ายและได้นานส่วนนี้จะมียอดขายเติบโตค่อนข้างสูงมากขึ้นในช่วงที่เกิดโควิด

ขณะที่ธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง กุ้ง หลัก ๆ เนื่องจากกว่าครึ่งหนึ่งของธุรกิจขายผ่านแชนเนลของฟู้ดเซอร์วิส คือ ร้านอาหาร โรงแรมทั้งหลาย ในส่วนนี้ก็จะมีผลกระทบบ้างแต่ในส่วนที่ขายเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น พวกส่วนประกอบอาหารที่สำคัญที่ใช้ปรุงอาหารที่บ้าน ส่วนนี้มีการเติบโตขึ้นมาชดเชย แต่โดยภาพรวมธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งอาจจะมียอดขายที่ลดลงบ้างประมาณ 20-30% ในขณะที่อาหารทะเลกระป๋องเติบโตขึ้น 30-50% ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโต 5-10%

โดยภาพรวมในแง่รายได้ไตรมาส 1 เติบโตระดับประมาณ 6% ในไตรมาสแรกโควิดเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายกุมภาพันธ์และมีนาคม จะเห็นอิมแพ็กต์มากขึ้นในไตรมาส 2 และ 3 นอกจากรายได้ไตรมาส 1 โต 6% แล้ว กำไรโตขึ้นเกือบ 50% แต่ส่วนของกำไรสุทธิอาจลดลง 20% เมื่อเทียบปีต่อปีนั้น จากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับจากแข็งค่ามาอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ในส่วนนี้จะมีการบันทึกขาดทุนบ้างในไตรมาส 1 แต่ในไตรมาส 2 มาจะกลับมาสู่สภาวะปกติ และเชื่อว่ารายได้น่าจะสูงมากขึ้นในไตรมาส 2

ส่วนผลกระทบในการประกอบธุรกิจร้านอาหารเรดล็อบสเตอร์ในสหรัฐนั้นได้รับผลจากมาตรการล็อกดาวน์จากโควิด-19 โดยเพิ่งจะเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการปกติในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางบริษัทได้ปรับแผนใช้ระบบการทำการตลาดออนไลน์เข้ามาช่วย และระงับแผนการขยายสาขาที่วางไว้