แบน “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” วุ่นไม่จบ กระทรวงอุตสาหกรรม-บอร์ดวัตถุอันตราย-กรมวิชาการเกษตร ฯลฯ เจอ 2 คดีรวด”ซินเจนทา ครอปฯ” ผู้นำเข้าสารเคมีสัญชาติสวิส-เลขาสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ยื่นฟ้องศาลปกครองกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอคุ้มครองชั่วคราว ประธานสภาหอการค้าฯชี้กระทบนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้าในประเทศ ตั้งคณะทำงานถก อย.หาทางออก
กว่า 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงจนมีมติ “ให้ยกเลิก” การใช้ “พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส” และเตรียมกำหนดการใช้ “ไกลโฟเซต” เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง แต่เรื่องยืดเยื้อมานาน
เนื่องจากมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและคัดค้าน และหลังวันที่ 19 พ.ค. 2563 ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ลงนามโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยประกาศแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ขึ้นบัญชีวัตถุอันตราย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 63 เป็นต้นไป ส่วนไกลโฟเซตนั้น มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่นายสุริยะเป็นประธาน ได้ลงมติยกเลิกการแบน และเปลี่ยนมาเป็นมาตรการจำกัดการใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 ล่าสุดมีผู้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ขอให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว
ปมสารพิษยื่นฟ้อง 2 คดีรวด
แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจสารเคมีการเกษตรเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการในวงการธุรกิจสารเคมีการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรกำลังจับตามองและติดตามความคืบหน้ากรณี บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ผู้นำเข้าสารเคมีรายใหญ่ ยี่ห้อทางการค้ากรัมม็อกโซน และแกนนำเกษตรกรผู้สนับสนุนการใช้ยาฆ่าหญ้าพาราควอต ได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีหมายเลขดำที่ส.12/2563 (ยังไม่ออกคดีหมายเลขแดง) เรื่องตามกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางการปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563
ผู้ถูกฟ้องคดีประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, คณะกรรมการวัตถุอันตราย, กรมวิชาการเกษตร และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร รวม 5 ราย คำฟ้องอ้างถึงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 และคำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่ 750/2563 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิด 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว และคำสั่งดังกล่าว จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
ขอศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ส่วนอีกสำนวนเป็นคดีหมายเลขดำ ส.10/2563 ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ ที่ 1 รวมกับพวก 11 คน ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 1 กับพวก ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, คณะกรรมการวัตถุอันตราย และกรมวิชาการเกษตร โดยคำฟ้องระบุว่า ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงอุตสาหกรรม) กับมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการวัตถุอันตราย) ที่ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงชนิดวัตถุอันตราย ลำดับที่ 53 คลอร์ไพริฟอส ลำดับที่ 54 คลอร์ไพริฟอส-เมทิล ลำดับที่ 352 พาราควอต ลำดับที่ 353 พาราควอตไดคลอไรด์ และลำดับที่ 354 พาราควอตไดคลอไรด์ (บิส เมทิลซัลเฟต) จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 11 คน ได้รับผลกระทบจากมติและประกาศดังกล่าว ขอให้ศาลได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา กระบวนการต่อจากนี้ไป ต้องรอศาลจะเรียกไต่สวนคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย
เลขาสมาพันธ์เกษตรฯร้องศาล
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า วันที่ 27 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา ตนและตัวแทนเกษตรกรได้เดินทางไปที่ศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราวการใช้สารพาราควอตในการทำการเกษตรกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เกษตรกรต้องได้เริ่มทำการเกษตรแล้ว แต่ติดปัญหาไม่สามารถใช้สารเคมีพาราควอตกำจัดศัตรูพืชได้ ส่งผลให้การทำเกษตรล่าช้า สร้างความเดือดร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้กรมวิชาการเกษตร หาแนวทางการเยียวยาและหาสารทดแทนซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป แต่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว หากใครฝ่าฝืนมีไว้ในครอบครองมีโทษหนัก จำคุก 10 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรวิตกกังวลใจ บางคนยังมีสารพาราควอตแต่ไม่กล้านำมาใช้
“ส่วนสารทดแทน หรือสารกลูโฟซิเนต ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บอกว่าสามารถนำมาทดแทนพาราควอตในการกำจัดศัตรูพืช แม้ทำได้จริงแต่ไม่เข้มข้น จึงต้องใช้ปริมาณมาก เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะเกษตรกรซื้อพาราควอตไว้แล้ว หากต้องเสียเงินซื้อสารดังกล่าวเพิ่มอีก อาจทำให้ขาดทุนตั้งแต่ยังไม่เริ่มเพาะปลูก”
ปลัดเกษตรฯมึนยังไม่เจอทางออก
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ทราบเรื่องการยื่นฟ้องของเอกชนแล้ว แต่อำนาจหน้าที่ต่าง ๆ อยู่ที่บอร์ดวัตถุอันตราย ยอมรับว่าปัญหาที่พบมีมาก เช่น กรณีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกา คงต้องหาทางออกร่วมกันทุกฝ่าย แต่กติกาสากลกำหนดอยู่แล้วว่า สารตกค้างเป็นกฎหมายสาธารณสุข ไม่แน่ใจว่าจะเคลียร์เรื่องนี้อย่างไร ตนได้หารือกรมวิชาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในทางปฏิบัติที่เป็นปัญหาข้อร้องเรียน เพราะก่อนหน้านี้ ตามนโยบายภาคเกษตร ภาครัฐเดินหน้าขับเคลื่อนมาตลอด มีการแบนสารที่อันตรายกว่า 100 รายการ ทุกคนยอมรับได้ และทุกครั้งที่แบนต้องเห็นพ้องต้องกันในแนวทาง แต่กรณีนี้ยังเห็นต่างจึงเกิดปัญหา
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดผลกระทบกรณีเป็นสินค้านำเข้าที่ไม่สามารผลิตในประเทศได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปศึกษาว่า จะมีแนวทางไหนสามารถกำหนดค่าสารตกค้างการนำเข้าให้ต่ำที่สุดได้ แม้ปัจจุบันค่ามาตรฐานที่ใช้กำหนดโดยโคเด็กซ์ (Codex)
หอการค้าถก อย.หาช่องปลดล็อก
นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานประชุมร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อหาทางออก ภายหลังจากการบังคับใช้ประกาศตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกระทบการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าในประเทศ เพราะประกาศดังกล่าว
กำหนดให้ต้องไม่มีส่วนผสมของการใช้สารเคมีดังกล่าวเลย หรือให้เป็น 0% ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานที่เข้มงวดสูงเกินกว่ามาตรฐาน Codex ทำให้ไทยอาจจะไม่มีวัตถุดิบในการผลิต ดังนั้น ทางออกต้องสรุปว่ามีแนวทางใดหรือไม่ที่จะผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าวัตถุดิบที่มีสารดังกล่าวปนอยู่ในระดับเดียวกับมาตรฐานสากล Codex
“หอการค้าคงไม่ร่วมกับบริษัทดังกล่าวฟ้องศาลปกครอง หากฟ้องร้องก็อาจทำเฉพาะในส่วนของหอการค้าเอง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการฟ้อง กำลังหาทางออกร่วมกับ อย. โดยจะหารือกันสัปดาห์นี้ เราห่วงเกษตรกรด้วย หากห้ามต้องมีแนวทางหรือมีสารใช้ทดแทน ต้องมีทางออกให้เกษตรกรด้วย”