โควิดฉุดไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด “จุรินทร์” ไล่หั่นราคาสินค้า 7 พันรายการ

การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ถือเป็นปัญหาที่ท้าทายการทำงานรัฐบาลทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่ซึ่งปัญหาค่าครองชีพของประชาชนดูจะรุนแรงไม่น้อยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน เริ่มมีสัญญาณการ “เลิกจ้าง” เกิดขึ้น

นำมาสู่ปัญหาภาวะค่าครองชีพ ประกอบกับไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค หลังจากสถานการณ์เงินเฟ้อประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ติดลบ 3.44% ถือเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี กับอีก 10 เดือน นับจากเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ลดลง 4.4% และนับรวมการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน นั่นหมายถึงไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามทฤษฎีแล้ว โดยสาเหตุที่เงินเฟ้อติดลบมาจากราคาสินค้าลดลงจากปัจจัยสำคัญ เช่น ราคาน้ำมันทรงตัวระดับต่ำ ขณะเดียวกันรัฐมีการดำเนินมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้า ซึ่งมีผลให้ภาพรวมราคาสินค้าลดลง

อย่างไรก็ตาม “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายมุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ผ่านโครงการ “พาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน” โดยดึงกลุ่มผู้ผลิตสินค้า 40 ราย ผู้ค้าปลีก-ค่าส่ง 171 ราย นำสินค้าใน 6 กลุ่มมาร่วมลดราคาไปแล้ว 4 ระยะ รวม 7,158 รายการ

โดยสามารถลดราคาสูงสุดได้ 68% (ตามกราฟิก) และได้กระจายมาตรการสู่ 878 อำเภอทั่วประเทศในเวลา 2 เดือน (มิ.ย.-ก.ค. 2563) เป้าหมายการลดราคาแต่ละลอตจะช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งยังเป็นการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ทำให้ประชาชนจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น และช่วยให้ผู้ผลิตได้ช่องทางระบายสินค้าในสต๊อก เป็นสูตรที่วิน-วินทุกฝ่าย

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงการดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดัน “โครงการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น” หรือที่รู้จักในชื่อ “โครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ” เมื่อครั้ง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะที่เคยเป็นอดีต รมว.พาณิชย์ ได้เคยดำเนินการไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2560 เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านราย

โดยเปิดให้ร้านค้าในชุมชนที่ขายสินค้าอุปโภค-บริโภค มีทำเลที่ตั้งของร้านค้าที่แน่นอน สมัครเข้ารวมโครงการ ภาครัฐจะติดตั้งเครื่องรับชำระเงิน EDC ให้ เพื่อพัฒนาระบบร้านค้าโชห่วยดั้งเดิมให้เข้าสู่ระบบการค้าสมัยใหม่ สร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้าชุมชน ซึ่งผลสำเร็จโครงการดังกล่าวเคยสร้างเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 1 แสนล้านบาท ในช่วงเวลา 1 ปี


แต่หลังจากผ่านมากว่า 1 ปีเศษ เป็นที่น่าเสียดายว่าโครงการดังกล่าวเลือนหายไปอย่างเงียบ ๆ ซึ่งทางกรมการค้าภายในยังยืนยันว่ายังดำเนินโครงการดังกล่าวต่อเนื่องโดยจนถึงขณะนี้ได้รับสมัครร้านค้าเข้าร่วมแล้วกว่า 90,000 ร้านค้าจากผู้สมัคร 120,000 ร้านค้า และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 10,000 ร้านค้า หากไม่นับว่าเป็นโครงการของคนละพรรคการเมือง การนำร้านธงฟ้าประชารัฐมาสานต่อร่วมกับการลดราคาสินค้าช่วยประชาชนก็จะสามารถอาศัยเครือข่ายร้านค้าโชห่วยลงสู่ชุมชน ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ท่ามกลางภาวะเงินฝืดทางเทคนิคได้ด้วย