BOI จุดพลุแพ็กเกจหนุนลงทุน BCG จ้างงานท้องถิ่น

บีโอไอลุยปรับใหญ่เพิ่มสิทธิประโยชน์ เงื่อนไข ประเภทกิจการ BCG พร้อมดันแพ็กเกจรองรับการย้ายฐานการผลิตมาไทย และดันพื้นที่ทั่วภูมิภาคเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน หวังจ้างแรงงานหลังกลับบ้านเกิด ปั้นไทยเป็น hub CLMVT ดึงบริการท่องเที่ยวช่วยดัน ไม่ยึดเป็นแค่เป้าฐานการผลิตเพื่อส่งออกอีกต่อไป

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในการประชุมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันพุธที่ 17 มิ.ย. 2563 นี้บีโอไอเตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาปรับสิทธิประโยชน์บางอุตสาหกรรมให้เพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มประเภทกิจการใหม่ เนื่องจากมาตรการที่ออกไปแล้วก่อนหน้านี้ได้มีการพบว่า บางเงื่อนไขไม่เหมาะสม ไม่สนับสนุนเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งจะประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมเกษตรที่จะเพิ่มประเภทกิจการใหม่ 1 ประเภท และปรับปรุงประเภทกิจการอีกหลายตัว เช่น เพิ่มกิจการโรงงานผลิตพืช

รวมถึงกลุ่มกิจการ BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว(green economy) ตามที่ทางภาคเอกชนและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศซึ่งถือว่าจะอยู่ในกลุ่มเกษตรนี้ด้วย และปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่แต่จะมีเงื่อนไขวัตถุประสงค์ขึ้นมาเป็นตัวกำหนด เช่น เงื่อนไขในเรื่องของมาตรฐาน เพราะไทยจำเป็นต้องแข่งขันในตลาดโลกมาตรฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากสินค้าไม่ได้ตามมาตรฐานสากลก็จะขายลำบาก เป็นต้น ดังนั้น ใครจะได้บีโอไอก็สมควรที่จะได้มาตรฐานด้วย

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่จะเสนอบอร์ดคือ ดิจิทัล ที่ได้หารือกับคณะอนุกรรมการด้านดิจิทัลไปแล้ว 1 ครั้ง ที่จะทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการดิจิทัลด้วยเช่นกัน โดยจะนำนโยบายมาหารือ เพื่อหามาตรการที่เหมาะสม คาดว่าจะตกผลึกเร็ว ๆ นี้ เพราะเป้าหมายต้องการสนับสนุนให้เกิดแพลตฟอร์มของคนไทยเอง และอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งก่อนหน้านี้บอร์ดได้อนุมัติมาตรการการลงทุนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว โดยเป็นการสนับสนุนกิจการที่ผลิตหน้ากากอนามัยชุด PPE แอลกอฮอล์และอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ซึ่งการปรับครั้งนี้จะเป็นการขยายเพิ่มเติมส่วนที่เกี่ยวข้อง

“บีโอไอยังคงยึดนโยบายหลักคือ การดึงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เนื่องจากไทยยังต้องการเทคโนโลขั้นสูงขณะเดียวกัน จะเพิ่มนโยบายในการผลักดันอุตสาหกรรมในประเทศให้เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ เช่น ด้านเกษตร ดิจิทัล การแพทย์ ตามที่เตรียมเสนอเข้าบอร์ด”

นอกจากนี้ ยังเตรียมออกแพ็กเกจใหม่สำหรับการย้ายฐานการลงทุน (รีโลเกชั่น)โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือถึงสิทธิประโยชน์โดยใช้พื้นที่มาเป็นตัวกำหนด เช่น สิทธิประโยชน์ที่มีสำหรับ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และในอนาคตที่จะเกิดขึ้นคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน เป็นต้น หากนักลงทุนจะย้ายฐานการลงทุนมาที่ไทยสามารถลงทุนพื้นที่ใดก็ได้ เพราะทั้ง 76 จังหวัดยกเว้นกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ตามประกาศส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดแล้ว

“เดิมที่เราออกแพ็กเกจรีโลเกชั่นกำหนดว่าต้องเป็นกิจการ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ครั้งนี้เราปรับใหม่ด้วยว่ามีแรงงานกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเกิดการจ้างงานใหม่ และกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค ดังนั้น แพ็กเกจใหม่นี้จะเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ลงทุนที่ไหนก็ได้สิทธิประโยชน์ แต่ยังคงหารือให้ชัดเจนก่อนว่ากรอบควรเป็นอย่างไร เพราะจะมีมิติเรื่องคลัสเตอร์ เช่นบางอุตสาหกรรมลงทุนทั้งคลัสเตอร์ ควรจะให้แยกหรือให้ทั้งยวง”

ทั้งหมดนี้เป็นไปตามการรับมอบนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่มอบให้บีโอไอปรับนโยบายใหม่ เนื่องจากภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19อาจทำให้การลงทุนชะลอตัว โดยตั้งเป้าผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (hub) กลุ่ม CLMVT ไม่ใช่เพียงเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร บริการ ท่องเที่ยว และการแพทย์ ในส่วนการผลักดันภาคการเกษตรจะต้องเดินตามนโยบาย local economy ให้สิทธิประโยชน์

ในกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และสามารถเชื่อมกับเกษตรรายย่อยและการท่องเที่ยวไปด้วย นอกจากนี้ บีโอไอจะต้องสร้างยูนิคอร์น (ผู้ประกอบการยอดขาย 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) ภายในแผน 5 ปีและสานต่อการเจรจากับประเทศเครือข่ายสำคัญอย่างจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน จากความต้องการย้ายฐานผลิตมาที่ไทยด้วย

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานรับฟังความเห็นภาคเอกชนที่จะร่วมนำเสนอแนวทางการใช้โมเดล BCG ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะทำงาน 7 กลุ่มร่วมนำเสนอแนวทางการใช้ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของอว.ที่ต้องการนำ BCG และการท่องเที่ยวมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งได้อย่างไร เสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เช่น กลุ่มการแพทย์ ซึ่งมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานเสนอการใช้แนวทางการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (medical hub) ซึ่งหลังจากรับทราบหลักการ ท่านมอบให้เอกชนไปจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำมาพิจารณาตามกรอบงบประมาณปี 2564 ทั้งนี้ หากส่งเสริม BCG สำเร็จไม่เพียงจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวจะสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน เก่งในสิ่งที่เรามีและพัฒนาไปเป็นความมั่นคงของเรา

สำหรับคณะทำงาน BCG ประกอบด้วย 1.กลุ่มเกษตร มี น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็นประธาน 2.กลุ่มอาหาร มีนายธีรพงศ์ จันศิริ เป็นประธาน 3.กลุ่มยาและวัคซีน มี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลสกลสัตยาทร เป็นประธาน 4.กลุ่มเครื่องมือแพทย์ มี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นประธาน 5.กลุ่มพลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ มีนายเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นประธาน 6.กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีนายกลินท์ สารสิน เป็นประธาน และ 7.กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน มีดร.วิจารย์ สิมาฉายา เป็นประธาน