หน้ากากไทยพาเหรดไปต่างประเทศ 400ล้านชิ้น-สวนทางกกร.คุมส่งออก

ตากหน้ากากอนามัย
ภาพประกอบข่าว : Romeo GACAD / AFP

หลังห้ามส่งออก 2 เดือน ปรากฏยอดส่งออกหน้ากากอนามัยกันฝุ่น-หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ มี.ค.-เม.ย. 2563 ยังสูงกว่า 400 ล้านชิ้น ลุ้น “พาณิชย์” ปลดล็อกห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย 30 มิ.ย.นี้ สถานการณ์คลี่คลาย ด้านผู้ผลิตหน้ากาก 11 รายอู้ฟู่รัฐช่วยชดเชยส่วนต่างราคาผลิตหน้ากากให้ชิ้นละ 1 บาท ตามสัญญารวม 108 ล้านบาท มีตั้งแต่ 8 พ.ค.เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าหลังจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้มีมติ “ห้าม” การส่งออกหน้ากากอนามัยทุกรายการไม่ว่าจะกี่ชิ้น นับตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ถึง 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นโดยการทบทวนมติ กกร. เมื่อวันที่ 4ก.พ. 2563 ที่อนุญาตให้ผู้ที่ต้องการส่งออกหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ในปริมาณ 500 ชิ้นสามารถขออนุญาตส่งออกได้หากได้รับอนุญาตจากเลขานุการ กกร. ตามความเห็นของ กกร. แต่เพราะภายหลังพบว่ามีผู้ส่งออกใช้วิธีการหลบเลี่ยงเงื่อนไขโดยแจ้งปริมาณการส่งออกต่ำกว่า 500 ชิ้นจึงต้องออกประกาศดังกล่าว

ล่าสุด จากการตรวจสอบข้อมูลการส่งออกหน้ากากอนามัย กรมศุลกากร พบว่าหลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ก็ยังมีตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งแบบที่ใช้ในทางการแพทย์ และหน้ากากกรองฝุ่นหมอกควัน หรือสารพิษ และหน้ากากอนามัยอื่น ๆ (ตามกราฟิก) โดยรวมแล้วในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.)2563 ก็ยังมีตัวเลขส่งออกสะสม การส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งแบบที่ใช้ในทางการแพทย์ 67,498 กก. และหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ 242,331 กก. และอื่น ๆ 2,094,539 กก.

ทั้งนี้ หากจะคำนวณเฉลี่ยจำนวนชิ้นเบื้องต้น จากน้ำหนักบรรจุหน้ากากอนามัย 1 กล่อง ขนาดบรรจุ 50 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 35 กรัม คำนวณเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวนประมาณ 96.4 ล้านชิ้น หน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ 346.2 ล้านชิ้น และอื่น ๆ 2,992.2 ล้านชิ้น

แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน ระบุว่า ขณะนี้ประกาศควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัยไปนอกราชอาณาจักร “ไม่ได้ยกเลิก” แต่อย่างใด เว้นกรณีที่ได้รับอนุญาตให้มีการส่งออกเท่านั้น โดยต้องแจ้งรายละเอียดทั้งเรื่องของประเภทหน้ากาก ขนาด ปริมาณ สถานที่ ระยะเวลา เป็นต้น ขณะที่การกำหนดให้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยแจ้งข้อมูลทั้งเรื่องปริมาณ ต้นทุน การนำเข้า การผลิต การจำหน่ายให้ครบถ้วน

นอกจากนี้ กกร.ได้ออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต แบบหนังสืออนุญาต และวิธีการส่งออกซึ่งหน้ากากอนามัย เพื่อให้ควบคุมและรอบคอบมากที่สุด และประโยชน์ของประเทศและความเป็นธรรมของผู้ผลิตด้วย ซึ่งต้องกรอกข้อมูลรายละเอียดในการส่งออก ทั้งประเภทของหน้ากาก หน้ากากใช้กับกิจกรรมใด โรงงานอุตสาหกรรม หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง ประเทศที่ส่งออก ปริมาณ เป็นต้นซึ่งต้องมีหนังสือขออนุญาตส่งออกไปยัง กกร.พิจารณา เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 3 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

และเมื่อ 8 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้ออกประกาศคณะกรรมการพิจารณาชดเชยส่วนเกินราคาหน้ากากอนามัยให้โรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัย ตามโครงการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยให้เพียงพอและเป็นธรรม โดยกระทรวงพาณิชย์ได้จัดสรรงบประมาณค่าชดเชยส่วนต่างราคาหน้ากากอนามัยให้ผู้ผลิต 11 รายที่เข้ามาร่วมผลิตหน้ากากจำหน่ายจำนวน 108 ล้านบาท

“เหตุผลที่ต้องชดเชย เพราะช่วงที่วัตถุดิบสำหรับผลิตหน้ากากอนามัยปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนของผู้ผลิตหน้ากาก ขยับขึ้นไปถึงชิ้นละ 4.28 บาท แต่ทาง กกร.ได้กำหนดให้จำหน่ายหน้ากากอนามัยตามราคาควบคุมที่ชิ้นละ 2.50 บาท ดังนั้นเพื่อให้ผู้ผลิตยังสามารถผลิตและจำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาที่กำหนดเพื่อบรรเทาปัญหาขณะนั้น ทางรัฐบาลจึงต้องช่วยเหลือชดเชยส่วนต่างของต้นทุนที่เกิดขึ้นในอัตราไม่เกินชิ้นละ 1 บาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ผลิต โดยผู้ผลิตสามารถยื่นขอรับชดเชยส่วนต่างได้แล้ว และต้องแสดงเอกสารต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเอกสารการส่งมอบหน้ากากอนามัยซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าขอรับชดเชยเข้ามา”.