อุ้มค่าครองชีพ ตรึง LPG-รื้อสูตรราคาน้ำมัน

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะผ่อนปรนลง โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง รัฐบาลพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ภาคธุรกิจกลับมาประกอบธุรกิจได้แล้วถึงระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา แต่ภาระค่าครองชีพก็ยังไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้ทันที ดังนั้นแต่ละกระทรวงจะต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดในฟากกระทรวงพลังงาน “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งล่าสุดได้ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน โดยมีมติเห็นชอบขยาย มาตรการช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนขนาดถังบรรจุ 15 กก. ไว้ที่ 318 บาท ลดลงจากราคาปกติ 45 บาททั้งยังให้คงมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้ลดราคาซื้อก๊าซ LPG จากราคาปกติ 100 บาทต่อคนต่อเดือน โดยให้ขยายมาตรการออกไปอีก 3 เดือน จนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ จากเดิมที่มาตรการนี้จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้

สำหรับการ “ตรึงราคา” จำหน่าย LPG ภาคครัวเรือนครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสนับสนุนประมาณ 248 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของกองทุนภาพรวมที่ยังเป็นบวกโดยปัจจุบันปริมาณการใช้ LPG ในส่วนของภาคครัวเรือน 5.51 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลง 5.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบเป็น 1 ใน 3ของปริมาณการใช้ LPG รวมทั้งประเทศที่เฉลี่ย 15.65 ล้านกิโลกรัมต่อวันมาตรการที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ กบง.เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ ภายหลังได้หารือร่วมกับภาคประชาชน เพื่อให้เป็นการสะท้อนราคาขายปลีกในอัตราประเภทต้นทุนของทุกชนิดเชื้อเพลิง เบื้องต้นหลักเกณฑ์นี้จะส่งผลต่อราคาหน้าโรงกลั่นลดลง 0.50 บาทต่อลิตร และทำให้ราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันลดลง 0.50 บาทต่อลิตร

แต่ทั้งนี้ราคาขายปลีกอาจลดลงสูงมากว่าหรือน้อยกว่านี้ จากปัจจัย “ค่าการตลาด” ซึ่งทาง กบง.เคยเห็นชอบไว้เฉลี่ย 1.85 บาทต่อลิตร เป็นค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันทุกชนิด ซึ่งอาจจะมีความยืดหยุ่นอยู่ในระดับ 0.40 บาทต่อลิตร หรืออยู่ในระดับ 1.45-2.25 บาทต่อลิตร และปัจจัย”ราคาน้ำมันตลาดโลก” ณ ขณะนั้นเป็นสำคัญ โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 มิ.ย. 2563

หลังจากนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมธุรกิจพลังงานเตรียมรายละเอียดการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน เพื่อเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้นำมาเสนอ กบง.พิจารณาอีกครั้ง