ให้ ‘บีโอไอ’ โรงไฟฟ้าไทยออยล์ แปรรูปกากน้ำมันเข้าเกณฑ์ ‘ไบโออีโคโนมี’

โรงกลั่นไทยออยล์

“ไทยออยล์” ประเดิมใช้สิทธิมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรตามแนวคิด BCG รายแรกผุดโปรเจ็กต์โรงไฟฟ้ากากน้ำมัน 24,000 ล้าน หลังบอร์ด BOI หนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่แบบถาวร ปรับเงื่อนไข-ประเภทกิจการ คว้าสิทธิประโยชน์ 8 ปี

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เห็นชอบให้ปรับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรตามแนวคิด BCG (bioeconomy – circular economy – green economy) ให้เป็นมาตรการถาวร ไม่กำหนดกรอบวันเวลาในการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตรเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการจ้างงานท้องถิ่น และห่วงโซ่อุปทานหลายธุรกิจ เช่น เชื่อมกับภาคบริการ ท่องเที่ยวได้ ทางบีโอไอจึงปรับปรุงขอบข่าย เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ 4 ประเภทกิจการด้านเกษตร เช่น กิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็นได้เพิ่มเงื่อนไขให้ดูแลมาตรฐานด้านการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GWP) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งยังเพิ่มประเภทกิจการใหม่ คือ โรงงานผลิตพืช (plant factory) ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

ล่าสุดขณะนี้มีบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนตามเงื่อนไข BCG แล้วรายแรก ในกิจการผลิตไฟฟ้าจากกากน้ำมัน (PITCH) 250 เมกะวัตต์ และกรดกำมะถัน (sulfuric acid) ปีละ 80,300 ตัน ตั้งโครงการที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เงินลงทุน 24,113 ล้านบาท

สำหรับเงื่อนไขโครงการที่จะขอรับส่งเสริม ประกอบด้วย 1.กรณีที่มีการออกแบบระบบและซอฟต์แวร์เองจะต้องออกแบบระบบและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะ system intergration มีการเก็บข้อมูล แปลผลและวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ ยังต้องมีค่าใช้จ่ายเงินเดือนบุคลากร ด้านการพัฒนาไอทีและวิศวกรรมไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาท/ปี

หรือมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน) 2.กรณีไม่มีการออกแบบระบบและซอฟต์แวร์เองนั้น นักลงทุนจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบ หรือซอฟต์แวร์ หรือแพลตฟอร์ม โดยผู้พัฒนาในประเทศ โดยเฉพาะวิสาหกิจเริ่มต้น ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และต้องมีการผลิตหรือจัดหาเครื่องจักร และ/หรืออุปกรณ์มาให้บริการ

นอกจากนี้ นักลงทุนต้องมีระบบการจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลักษณะ system intergration มีการเก็บข้อมูล แปลผล และวิเคราะห์ข้อมูล และต้องมีค่าใช้จ่ายเงินเดือนของบุคลากรด้านการพัฒนาไอทีและวิศวกรรมไม่น้อยกว่า1.5 ล้านบาทต่อปี หรือมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่รวมรายได้จากการจำหน่ายหรือให้เช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี


รายงานสถิติขอรับส่งเสริมการลงทุน (ม.ค-มี.ค. 2563) พบว่า อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ขอรับส่งเสริม 42 โครงการ เงินลงทุน 5,690 ล้านบาท ลดลงเพียง 3% นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีนักลงทุนสนใจอย่างต่อเนื่อง