3 เดือนจ่ายเยียวยาโควิดถึงเกษตรกรเฉียดแสนล้าน

ส่องมาตรการอุ้มเกษตรกรหนีโควิด-19 อัดสารพัดโปรฯทั้งลด-พักหนี้-ไม่เก็บค่าเช่าที่ ส.ป.ก.สรุปยอด 3 เดือนเงินสดเข้ากระเป๋าเกือบแสนล้าน หรือมูลค่า 91,261 ล้านบาท เพียง 4% ซึ่งยังห่างเป้าล้านล้านบาท ด้าน สศก.สแกนรายได้เกษตรกร พบหนี้ครัวเรือนพุ่ง 2.2 แสนบาท/ครัวเรือน แม้หันไปพึ่งนอกภาคเกษตรเสริมเร่งหาแนวทางจ้างงานเพิ่ม หลังพบโอกาสแรงงานคืนถิ่นกลับไปทำเกษตร

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้สรุปผลมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร อาทิ การจัดทำ

แคมเปญและโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร การสร้างรายได้ โดยมีการจ้างแรงงาน การลดภาระค่าใช้จ่าย อาทิการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชสวนครัวและการขอความร่วมมือลดราคาอาหารสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต รวมถึงการจัดการด้านหนี้สิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และให้ผู้ประกอบการเสนอผ่านช่องทางทั้งเว็บไซต์ e-Mail call center facebook และ application Line ในช่วง 3 เดือน (เม.ย.-พ.ค.) ที่ผ่านมา ส่งผลให้กระทรวงดำเนินมาตรการ เพื่อเพิ่มเงินสดในมือเกษตรกรได้ 91,261ล้านบาท หรือประมาณ 4.03% จากเป้าหมาย 1.31 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หากพิจารณาแหล่งสร้างรายได้ ประกอบด้วย 1.การจ้างงานชลประทานเป้าหมาย 88,838 ราย 4,497.59 ล้านบาทค่าจ้าง 378 บาท/วัน หรือ 8,000 บาท/เดือน

2.เพิ่มช่องทางจำหน่าย และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าด้านการเกษตร มูลค่า 601 ล้านบาท โดยเพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซของลาซาด้า (LAZADA) และช้อปปี้ (Shopee) และช่องทางการจำหน่ายของแต่ละหน่วยงานโดยตรง

3.ดำเนินการช่วยเหลือเรื่องหนี้สิน ขยายเวลาพักชำระหนี้ งด ปรับลดดอกเบี้ย งดขายทอดตลาด และชะลอการบังคับคดีของลูกหนี้กองทุนหมุนเวียน มีเป้าหมายช่วยเหลือ 1.31 ล้านล้านบาทช่วยเหลือได้ 3.87% หรือ 50,584 ล้านบาท

4.เพิ่มสภาพคล่อง เป้าหมาย 4,775 ล้านบาท 58.76% ดำเนินการไปแล้ว 2,763 ล้านบาท

5.ปรับลดงดส่งค่าหุ้นสหกรณ์ 2,666 ล้านบาท

และ 6.ผ่อนผัน งดเก็บค่าเช่าที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อยู่ที่ 97 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ภายใต้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่มีการจ่ายไปแล้ว 46,178 ล้านบาท

ล่าสุด นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายเกษตรกร โดยให้รวมถึงเกษตรกรที่ด้อยโอกาสและยังไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร จำนวน 137,093 ราย เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้เป็นไปอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบวงเงินและจำนวนเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย รวมไม่เกิน 10 ล้านราย และกำชับให้ สศก.ดำเนินการลงทะเบียนเกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 จำนวนประมาณ 120,000 ราย และเร่งตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการของกรมบัญชีกลาง และระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ ของรัฐอีกด้วย

ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19ส่งผลกระทบภาคเกษตรโดยเฉพาะแรงงานในเมืองและต่างประเทศได้โยกย้ายกลับภูมิลำเนา ประกอบกับภาวะการเงินที่มีความตึงตัวอยู่ก่อนแล้วเมื่อไม่มีรายได้นอกการเกษตรมาช่วยในการชำระหนี้ที่มีมากโดยเฉลี่ย 221,490 บาท/ครัวเรือน จึงส่งผลให้การเงินมีความตึงตัวมากยิ่งขึ้น จึงต้องมีแผนพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและการตลาด เร่งส่งเสริมศักยภาพแรงงานภาคเกษตร โดยเฉพาะแรงงานคืนถิ่นที่กำลังว่างงาน จูงใจให้แรงงานอายุน้อยหันมาทำเกษตรมากขึ้น ซึ่ง สศก.อยู่ระหว่างจัดทำโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดินเกษตรไทย

“ครัวเรือนเกษตรของไทยปัจจุบันเป็นครัวเรือนที่ทำการเกษตรขนาดเล็กรายได้ทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน สมาชิกในครัวเรือนและหัวหน้าครัวเรือนจำเป็นต้องหารายได้นอกภาคเกษตร เช่น เป็นแรงงานรับจ้างทั้งในและต่างประเทศ ค้าขาย และประกอบธุรกิจอื่น ๆซึ่งครัวเรือนเกษตรจะมีรายได้นอกภาคเกษตรประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด” นางอัญชนากล่าว