ไทยแจงคณะกรรมการสุขอนามัย WTO หลังสหรัฐ-บราซิลค้านแบนสารเคมีกระทบการค้า

ไทยเตรียมแจงปมร้อนแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 รายการ หลังสหรัฐฯ-บราซิล ร้องต่อคณะกรรมการด้านสุขอนามัย WTO กระทบการค้า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าสหรัฐและบราซิลต่างได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนขององค์การค้าการค้าโลก (WTO) ขอคัดค้านแนวทางของไทยที่ได้แจ้งกับ WTO ก่อนหน้านี้ว่าตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเตรียมห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีประเภทพาราควอต และควอไพริฟอส โดยอ้างว่า คำสั่งห้ามด้งกล่าวเกิดจากความพยายามที่จะจำกัดการนำเข้าไม่ได้เกิดจากความจำเป็น และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ใดๆ ที่แสดงถึงพิษภัยของการใช้สารดังกล่าว เพื่อแสดงถึงความชอบธรรมของการห้ามนำเข้าของไทยตามข้อตกลงองค์การการค้าโลกว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ซึ่งจะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“จากการตรวจสอบเบื้องต้นกับสำนักงานผู้แทนถาวรไทยประจำกรุงเจนีวา ประเด็นนี้ไม่ใช่การยื่นฟ้องไทยในกระบวนการระงับข้อพิพาท WTO แต่เป็นการส่งคำถามล่วงหน้า เพื่อจะสอบถามไทยถึงการใช้มาตรการนี้ของไทย ในการประชุมคณะกรรมการด้านสุขอนามัย หรือ SPS Committee ที่จะจัดประชุมในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ หากประเทศสมาชิก WTO ใด ออกกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ SPS มาใหม่ จะต้องเวียนแจ้งใน WTO และเปิดให้สมาชิกใน WTO สามารถสอบถาม ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช เป็นหน่วยงานหลักของไทยซึ่งจะเตรียมข้อมูลตอบคำถามในเรื่องมาตรการ SPS ใน WTO”


สำหรับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามประกาศเรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 ภายใต้ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้กำหนดให้ สาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ขึ้นบัญชีวัตถุอันตราย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 63 เป็นต้นไป ส่วนไกลโฟเซตนั้น มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่นายสุริยะเป็นประธาน ได้ลงมติยกเลิกการแบน และเปลี่ยนมาเป็นมาตรการจำกัดการใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 และกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่4 ตามประกาศฉบับนี้ ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด