ลุ้นศบค.ปลดล็อก BusinessBubble หนุนลงทุนอีอีซี

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี
แฟ้มภาพ : คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี

ชง ศบค.ไฟเขียว business bubble ปลดล็อกนักลงทุนเข้าอีอีซี หลังสัญญาณบวกโควิด-19 พ้นช่วงพีก ดันยอดขอบีโอไอ 5 เดือนกระเตื้อง 74,151 ล้านบาทพร้อมตั้งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะทำงานลุยพัฒนาเกษตรในอีอีซี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือบอร์ด EEC) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ขณะนี้เตรียมเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รับทราบผลการหารือร่วมระหว่าง สกพอ. กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้กำหนดแนวทางผ่อนปรนให้กับนักธุรกิจและช่างเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใน EEC สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยแบบ business bubble ได้ตามข้อเสนอของนักลงทุนญี่ปุ่น และเกาหลีก่อนหน้านี้

โดยเบื้องต้นจะสร้างภาคีเครือข่ายองค์กรบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทางกับสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ จัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (fit to fly) การขึ้นทะเบียนสถานที่และการบริการ alternative state quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่ EEC และทบทวนข้อกำหนด หรือมาตรการให้บุคลากรต่างชาติสามารถทำภารกิจในพื้นที่ได้คล่องตัว สนับสนุนการอนุญาตให้เดินทางระหว่างประเทศดังกล่าว

สำหรับภาพรวมการลงทุนในช่วง5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2563) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 74,151 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมียอดคำขออยู่ที่82,467 ล้านบาท และในพื้นที่ EEC ยังเป็นพื้นที่เป้าหมายหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึง 67% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งหมด มูลค่า 8,441 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 18,342 ล้านบาท ซึ่งในกลุ่มนี้พื้นที่ จ.ระยอง เป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนการลงทุนสูงสุดถึง 76% มูลค่า 20,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 24% เท่านั้น

“ผลกระทบจากโควิด-19 นักลงทุนจึงชะลอการลงทุน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามี 3 ประเทศ ที่มียอดขอบีโอไอเพิ่ม คือ สิงคโปร์ ขอรับส่งเสริม 6,632 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,587 ล้านบาท เนเธอร์แลนด์มียอดคำขอ 6,301 ล้านบาทจากปีก่อน 6,022 ล้านบาท และไต้หวันเพิ่มขึ้นมาเป็น 3,407 ล้านบาท จากปีที่แล้วเพียง 2,719 ล้านบาท”

ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่น มียอดขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ 8,114 ล้านบาท แม้จะลดลง แต่ญี่ปุ่นยังมองไทยเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งหากเทียบกับยอดบีโอไอช่วงไตรมาส 1 ซึ่งถือเป็นช่วงพีกการระบาดโควิด-19 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนใน EEC 47,580 ล้านบาท จะเห็นว่าผ่านมาเพียง 2 เดือน ปรากฏว่ายอดขอบีโอไอเพิ่มขึ้นถึง 26,571 ล้านบาทดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าสัญญาณการลงทุนเริ่มกลับมาดีขึ้น

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)กล่าวว่า ไตรมาสแรกมีผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นจึงไม่ต้องการมุ่งที่ตัวเลขยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน แต่ให้ดูที่อุตสาหกรรมที่เข้ามา เพราะไทยยังต้องการเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศ

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้แต่งตั้ง นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ซึ่งทางด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประสานงานดังกล่าว

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก. ในฐานะหน่วยงานประสานงานดังกล่าวร่วมกับ สกพอ. กล่าวว่า คณะทำงานจะจัดทำแผนงานโครงการด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้สอดคล้องกับนโยบาย EEC และสามารถรองรับต่อสถานการณ์หลังโควิดในรูปแบบ new normal โดยจะใช้ EEC เป็นต้นแบบทำเกษตรในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย จัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ (zoning) ผลิตสินค้าเกษตรตามศักยภาพของพื้นที่และความต้องการวัตถุดิบภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีการบริหารจัดการน้ำรองรับความต้องการใช้ทุกด้านอย่างสมดุล เป็น platform ตัวอย่างสร้างประโยชน์กับภาคประชาชนใน EEC และจังหวัดใกล้เคียง