เร่งโละสต๊อกไข่ 200 ล้านฟอง รัฐอุ้มค่าแพ็กเกจฟองละ 50 สตางค์

ไข่ไก่
File Photo : PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ส.ผู้เลี้ยงไก่ไข่มั่นใจส่งออกวันละ 20 ล้านฟอง คลายปัญหาสต๊อกล้น ราคาขยับสูงขึ้นฟองละ 2.40 บาท หลังพาณิชย์ดึงเงิน “คบท.” 50 ล้านบาท ช่วยค่าบริหารจัดการฟองละ 0.50 บาท

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สามารถผลักดันส่งออกได้เฉลี่ยวันละ 20 ล้านฟองต่อวันส่งผลให้แนวโน้มราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับตัวดีขึ้น เป็นฟองละ 2.40 บาท จากเดิมฟองละ 1.70-2.20 บาทต่อฟอง จากต้นทุนฟองละ 2.69 บาท เป็นสัญญาณที่ดีจากก่อนหน้านี้ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามส่งออกจากปัญหาเรื่องของโควิด-19 เพื่อให้มีไข่ไก่เพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณสต๊อกไข่ไก่สะสมเพิ่มขึ้น กระทั่งเกิดภาวะไข่ไก่ล้นตลาดวันละ 3 ล้านฟอง จึงได้หันมาผลักดันส่งออกปริมาณ 200 ล้านฟอง ในช่วง 4-6 เดือนนี้แทน

“หลังจากที่ภาครัฐยกเลิกห้ามส่งออกแล้ว กระทรวงพาณิชย์เข้ามาสนับสนุนเรื่องของแพ็กเกจจิ้งในการส่งออกไข่ไก่ ปริมาณ 100 ล้านฟอง ส่งผลให้สามารถส่งออกไข่ไก่ไปต่างประเทศได้มากขึ้น แนวโน้มของราคาปรับตัวดีขึ้น”

สำหรับตลาดส่งออกไข่ไก่หลักของไทย โดยเฉพาะฮ่องกงที่เคยนำเข้าปีละ 300-400 ล้านฟอง เริ่มมีสัญญาณนำเข้ามากขึ้นหลังจากโควิด นอกจากนี้ยังมีสิงคโปร์ และแอฟริกามีแนวโน้มดีขึ้น เช่นเดียวกับการบริโภคภายในประเทศปรับดีขึ้น เฉลี่ยวันละ 40 ล้านฟอง

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) อนุมัติเงินกองทุน 50 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือค่าบริหารจัดการ เช่น ค่ากล่องบรรจุ ค่าขนส่ง ค่าคัดเกรดไข่ไก่ในอัตราฟองละ 50 สตางค์ เพื่อผลักดันส่งออกไข่ไก่ จำนวน 100 ล้านฟองจากนโยบายที่ต้องการส่งออกทั้งหมด200 ล้านฟอง

ส่วนที่เหลืออีก 100 ล้านฟองภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกับรัฐบาล โดยในช่วง 4 เดือนแรกระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ย. 2563 ต้องส่งออกให้ได้ 100 ล้านฟอง และช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2563 ส่งออกอีก 100 ล้านฟอง ไปยังตลาดเป้าหมาย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และเมียนมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่หากราคาไข่ไก่สูงขึ้นเกินฟองละ 3 บาทก็จะชะลอการส่งออก เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าครองชีพผู้บริโภค