ไฟเขียวใบอนุญาตท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 “กัลฟ์” เตรียมก่อสร้างนำเข้า LNG เพิ่ม 15 ล้าน/ต่อปี

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้รับใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ จากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยองแล้ว จากนี้ กนอ.จะเร่งเดินหน้าการก่อสร้างโดยให้บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนร่วมทุนดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เป็นลำดับแรก

ทั้งในส่วนของการขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเทียบเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569

โดยก่อนหน้านี้ กนอ.ร่วมกับบริษัท กัลฟ์ฯ ได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลโครงการฯ รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของประชาชน โดย กนอ.กำชับให้บริษัท กัลฟ์ฯ ดำเนินการให้อยู่ภายใต้กรอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA)

ขณะเดียวกัน กนอ.ได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับการติดตามตรวจสอบและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม (คณะกรรมการไตรภาคี) ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันวิชาการ รวมถึงชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ

นอกจากนี้ กนอ.อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด เพื่อจัดตั้งกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กองทุน คือ 1) กองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉิน เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายในการเยียวยาความเสียหาย 2) กองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ ซึ่งจะมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ผู้แทน กนอ. ผู้รับเหมาก่อสร้าง/ผู้ดำเนินการถมทะเล และผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุน

“เป้าหมายหลักของการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การขยายพื้นที่ของท่าเรือฯ เท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนนโยบายพลังงานในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมเป็น LNG Hub ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) รวมทั้งมีคลังและโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับ LNG ประกอบกับมีความได้เปรียบด้านความต้องการใช้ LNG ในประเทศที่มีปริมาณสูง โดยคาดว่าหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่า (สินค้าด้านปิโตรเคมี และก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มอีกมากกว่า 15 ล้านตันต่อปี”