สารพิษพาราควอตไปถึง WTO US จ่อซักไทยในที่ประชุม

“เอกอัครราชทูตไทยประจำ WTO” เผยความพร้อมตอบปมร้อนแบนสารเคมีเกษตร หลังสหรัฐ-โคลอมเบียร้องยื่นขอคำอธิบายต่อคณะกรรมการด้านสุขอนามัย “มั่นใจ” จะไม่มีการฟ้องไทยแน่เหตุมาตรการไม่ใช่มาตรการถาวร

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้สารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ขึ้นบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่1 มิ.ย. 63 โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามประกาศฉบับนี้ ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด ส่วนไกลโฟเซตนั้น มีมติยกเลิกการแบน และเปลี่ยนมาเป็นมาตรการจำกัดการใช้
ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562

ประเด็นดังกล่าวเป็นเหตุให้สหรัฐและบราซิลได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนขององค์การการค้าโลก (WTO) ขอให้ไทยชี้แจงแนวทางการดำเนินการตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีประเภทพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสซึ่งความพยายามจำกัดการนำเข้าดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความจำเป็น และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ใด ๆ ที่แสดงถึงพิษภัยของการใช้สารดังกล่าว และจะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท นำมาสู่การขอให้ไทยชี้แจงแนวทางดำเนินการดังกล่าวซึ่งถือเป็นการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ภายใต้ WTO

นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณนครเจนีวา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าในการประชุมคณะกรรมการด้านสุขอนามัย (SPS Committee) WTO ระหว่างวันที่24-26 มิถุนายน 2563 นี้ สหรัฐและโคลอมเบียได้มีการสอบถามไทยถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นกระบวนการปกติที่จะมีประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการของประเทศสมาชิกอื่นก็จะขอยกเรื่องขึ้นมาหารือ เพื่อสอบถาม และติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ

“เท่าที่ตรวจสอบขณะนี้มีเพียงสหรัฐและโคลอมเบียที่จะสอบถามไทย ส่วนบราซิลน่าจะแค่ติดตามเรื่อง เพราะในการประชุม SPS ครั้งก่อนทางบราซิลและสหรัฐมีข้อกังวลต่อมาตรการนี้ของไทย แต่คราวนั้นไทยไม่ได้ตอบอะไรเพราะในการประชุมครั้งนั้นไม่มีเรื่องนี้อยู่ในวาระการประชุม และหลังจากการประชุมครั้งดังกล่าวไทยได้ยกเลิกการแบนสารไกลโฟเซตไปแล้ว บราซิลจึงไม่ยกเรื่องสอบถาม”

ส่วนที่โคลอมเบียเป็นประเทศใหม่ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาสอบถาม คาดว่าจะสอบถามถึงหลักการเรื่องการแบนสารรายการอื่นของไทย เพราะโคลอมเบียเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดออกไปยังตลาดโลกแม้ไม่ได้ส่งออกมาไทย แต่คิดว่าอาจต้องการป้องกันการบังคับใช้มาตรการนี้ในประเทศอื่น ๆ หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีนี้คงจะไม่นำไปสู่การฟ้องไทยต่อ WTO เพราะมาตรการนี้ไม่ใช่มาตรการถาวร แต่คงจะหยิบยกขึ้นมาหารือ เพื่อให้ทุกคณะกรรมการผู้แทนรับทราบถึงความกังวล