ชี้ 5 เดือนแรกไทยส่งออกไปจีนพุ่ง แนะเอกชนใช้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ดันส่งออก

พาณิชย์ กางสถิติส่งออกไปจีนช่วง 5 เดือนแรกของปี เริ่มดีขึ้น หลังจีนผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ทำความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบเพิ่ม ชี้ เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการใช้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ดันส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจีนผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองจากสถานการณ์โควิด-19 ภาคการผลิตและภาคธุรกิจของจีนเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการ ทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับสถิติส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. –พ.ค. 2563) มีมูลค่า 12,221 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 สินค้าของไทยหลายรายการมียอดการส่งออกไปจีนขยายตัวอย่างน่าพอใจ

โดยในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออกมูลค่า 1,391 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 67 ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออกมูลค่า 147 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 54 และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออกมูลค่า 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 35 เครื่องดื่ม ส่งออกมูลค่า 62 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ส่งออกมูลค่า 1,275 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24 เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ส่งออกมูลค่า 912 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 29 รถยนต์และส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 541 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 164 ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ส่งออกมูลค่า 274 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 94 แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ส่งออกมูลค่า 153 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18 รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 133 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 261 เป็นต้น

สินค้าส่วนใหญ่ข้างต้นได้แต้มต่อการลดเลิกภาษีนำเข้าจากเอฟทีเอ อาเซียน-จีน หรือ ACFTA ซึ่งมีผลบังคับใช้ปี 2548 ส่งผลให้จีนลดเลิกภาษีนำเข้าให้กับสินค้าของไทยมากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด (ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวบางรายการ เช่น ข้าว ข้าวโพด กาแฟ ใบยาสูบ ขนสัตว์ ฝ้าย แป้งข้าวเจ้า สับปะรดแปรรูป เป็นต้น) โดยเฉพาะสินค้าผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ทองแดง แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในจีนแล้วทุกรายการสินค้า ส่วนผลิตภัณฑ์ยางส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทั้งหมดแล้วเช่นกัน ยกเว้นเพียงยางไม่ผสมในลักษณะขั้นปฐมที่เก็บภาษีที่ในอัตราร้อยละ 5 ในขณะที่รถยนต์และส่วนประกอบจีนก็ทยอยลดภาษีลงให้ไทยในอัตราภาษีนำเข้าระหว่างร้อยละ 0-25

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกของไทยก่อนที่ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรีกับจีน (ปี 2547) กับปี 2562 พบว่ามูลค่าส่งออกของไทยไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 310 จากมูลค่า 7,113 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2547 เป็นมูลค่า 29,169 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 สอดคล้องกับข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการในการส่งออกสินค้าด้วยเอฟทีเออาเซียน-จีน ในปี 2562 มีอัตราสูงถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้สิทธิจากเอฟทีเอ นอกจากนี้ ความตกลงฉบับนี้ ยังทำให้ไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากจีน อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัตถุดิบจำพวกเคมี เหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ ได้ในราคาที่ถูกลง ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยลดลง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของไทย