ขึ้นภาษีเบียร์-เหล้า-บุหรี่ดันเงินเฟ้อ ก.ย.สูงขึ้น 0.86% ทำ 9 เดือนเงินเฟ้อเพิ่ม 0.59%

ขึ้นภาษีเบียร์ เหล้า บุหรี่ดันเงินเฟ้อก.ย.สูงขึ้น 0.86% ทำ 9 เดือนเงินเฟ้อเพิ่ม 0.59% “พาณิชย์” ปรับคาดการณ์ลดเป้าเงินเฟ้อทั้งปี 60 เหลือ 0.4-1.0% เหตุราคาน้ำมันดิบไม่สูงอย่างที่คาด ยันเศรษฐกิจไทยดีอยู่ เชื่อบัตรคนจนลดแรงกดดันราคาสินค้า

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนกันยายน 2560 เท่ากับ 101.22 สูงขึ้น 0.86% เทียบกับกันยายน 2559 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน นับจากเดือนมิถุนายน 2560 ที่เงินเฟ้อติดลบ 0.05% เมื่อเทียบกับสิงหาคม 2560 เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.58% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) 2560 สูงขึ้น 0.59% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.86% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 1.32% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 8.15% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 2.06% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เพิ่ม 1.07% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.21% ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่แอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.06% สินค้าสำคัญราคาแพงขึ้น เช่น อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม1.24% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 1.03% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 0.59% ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 2.89% ผักและผลไม้ ลด 0.43% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลด 0.51%

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกรายการสินค้า 422 รายการ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า สินค้าที่ราคาสูงขึ้น 157 รายการ เช่น เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผักชี นมสด น้ำปลา น้ำอัดลม กับข้าวสำเร็จรูป ค่าไฟ และ ค่าก๊าซหุงต้ม ส่วนผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น บุหรี่ เพิ่ม 4.12% เบียร์ เพิ่ม 0.21% และสุรา เพิ่ม 0.17% ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ด้านสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 196 รายการ และสินค้าราคาลดลง 69 รายการ

“เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนก.ย.เป็นผลจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับสูงขึ้น และการปรับขึ้นของราคาบุหรี่และสุรา จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่วนราคาผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด”

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สำนักงานฯได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2560 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.7-1.7% ปรับเหลือ 0.4-1.0% ภายใต้สมมติฐาน คือ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-4% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 45-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่คาดการณ์ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.4-34.5 บาท/เหรียญสหรัฐ จากเดิม 35.5-37.5 บาท/เหรียญสหรัฐ

“การปรับคาดการณ์เงินเฟ้อลดลง เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบเป็นหลัก ส่วนเศรษฐกิจไทยมองว่า 3 เดือนจากนี้ จะปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากเงินเฟ้อ 3 เดือนที่ปรับตัวเพิ่มติดต่อกัน สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น แม้ว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้นบ้าง แต่ก็มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยสามารถนำมาซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าและได้รับส่วนลดค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงขึ้นรถโดยสารสาธารณะฟรีตามวงเงินที่กำหนด ซึ่งทางสำนักงานฯจะมีการติดตามว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีผลต่อเงินเฟ้อเคลื่อนไหวอย่างไรบ้างต่อไป” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ซึ่งส่งผลให้เหล้า บุหรี เบียร์ ขึ้นราคานั้น จากการศึกษาพบว่า ราคาบุหรี่ที่ปรับเพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ0.028% เบียร์ กระทบเงินเฟ้อ 0.0012% และสุรา กระทบเงินเฟ้อ 0.00042% รวมผลกระทบ 0.027% ขณะที่การปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2560 สูงขึ้น 8.87 สตางค์/หน่วย กระทบเงินเฟ้อ 0.092% และมีสัดส่วนอยู่ในเงินเฟ้อถึง 3.61% ของน้ำหนักรวม ส่วนการปรับขึ้นก๊าซหุงต้ม (ภาคครัวเรือน) กระทบเงินเฟ้อ 0.0075% ด้านการปรับค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือข้ามฟาก 5 สตางค์-1 บาท เมื่อ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทบเงินเฟ้อ 0.00015% เท่านั้น