จุรินทร์ถกเอกชนแก้ปมลิงเก็บมะพร้าว 8 ก.ค.นี้ เตรียมเชิญเอกอัครราชทูตอียูลงพื้นที่พิสูจน์

จุรินทร์สั่งกรมส่งออกเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในการผลิตสินค้าที่ได้จากมะพร้าวเข้าหารือเพื่อหาแนวทางชี้แจงกรณีประเทศไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว ร่วมหารือวันพุธนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเชิญผู้ประกอบการและผู้ผลิต สินค้าแปรรูปที่ทำจากมะพร้าว (กะทิ) เพื่อหารือถึงกรณีที่องค์กรพิทักษ์สัตว์ ชี้ว่าประเทศไทยมีการทรมานลิงโดยใช้ให้เก็บมะพร้าว โดยมีผลต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากมะพร้าวของไทย โดยจะร่วมหารือกันในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 นี้ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางในการชี้แจงให้กับผู้นำเข้าสินค้าของไทย ได้เข้าใจพร้อมกันนี้สามารถ ประสานหาต้องการขอข้อมูลเพิ่มเติม ถึงการผลิตสินค้าแปรรูปจากมะพร้าวได้ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเชิญเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยโดยเฉพาะยุโรป เพื่อลงพื้นที่ดูการผลิตและการเก็บมะพร้าวเข้าไปในอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องและตรงตามความเป็นจริงพร้อมเป็นการรักษาสัดส่วนและคงตลาดการส่งออกไปในตลาดยุโรปและตลาดอังกฤษ

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าจะกรณีดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร Supermarket ซึ่งมีเจ้าของเป็นคนยุโรปหรือคนอังกฤษซึ่งมีสัดส่วน 30% ในขณะที่ 70 % ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเจ้าของร้านส่วนใหญ่เป็นคนเอเชียซึ่งมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมและวิถีที่เกิดขึ้น เพราะภาพที่ออกไปนั้นไม่ได้เกิดจากการนำลิงเก็บผลผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมแต่เป็นการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นไปตามวิถีชาวบ้านหรือส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น โดยอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะปัจจุบันการนำลิงเก็บมะพร้าวเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมนั้น แทบจะไม่มี เพื่อสร้างความเข้าใหม่ จึงจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือเพื่อชี้แจงต่อไป

สำหรับผลผลิตมะพร้าวของไทยในปี 2562 มีปริมาณ 7.8 แสนตัน แบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์กระทิอยู่ที่ 1.1 แสนตัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากมะพร้าวที่ไทยส่งออกไปต่างประเทศมี 2 ชนิดด้วยกันคือกะทิและมะพร้าวอ่อนส่วนของการส่งออกมีประมาณ 30 %ขณะที่ 70 %บริโภคภายในประเทศนอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการนำเข้ามะพร้าวจากประเทศอินโดนีเซียเนื่องจากผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ การส่งออกไปในตลาดยุโรปในปี 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาทโดย 18% ส่งออกไปตลาดยุโรปมีมูลค่า 2.2 พันล้านบาทและ 8% ส่งออกไปในตลาดอังกฤษมีมูลค่า 1 พันล้านบาท