ยอดขายนิคมฯ 9 เดือน ร่วง 3.86% ชี้ไตรมาส 3 ฟื้น จากโปรโมชั่นลดค่าเช่าช่วงโควิด

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรอ.) เปิดเผยถึงยอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62 – มิ.ย.63) อยู่ที่ 1,696.92 ไร่ ลดลง 3.86% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้นักลงทุนไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่ และติดต่อธุรกิจเพื่อประกอบการตัดสินใจจอง/ชื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้

โดยพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มียอดการขาย/เช่า 1,598.95 ไร่ และนอกพื้นที่ EEC จำนวน 97.97 ไร่ และมีการแจ้งเริ่มประกอบกิจการใหม่ 114 โรงงาน เกิดการจ้างงานเพิ่ม 12,019 คน
อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีการซื้อขายอยู่ เพราะไทยได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้า (trade war) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้นักลงทุนบางส่วนจากจีนและไต้หวัน ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะทำสัญญาจองเช่าไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว บวกกับการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย/เช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. เพื่อจูงใจนักลงทุนให้หันมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ตัวเลขยอดขายเฉพาะไตรมาส 3 (เม.ย.-มิ.ย.63) เพิ่มขึ้น 3.86% แม้จะยังเจอกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อยู่ก็ตาม

ส่วนภาพรวมในไทยเอง แม้โควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แต่กระบวนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ยังคงเดินหน้าเพื่อรองรับการลงทุน โดยช่วงต้นปี 2563 กนอ. มีการลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานแล้ว 4 แห่ง และประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมในราชกิจจานุเบกษา 2 แห่ง

ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 6 อ.ปลวกแดง อ.บ้านค่าย และอ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง พื้นที่ 1,322.40 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการ 2,625.78 ล้านบาท 2.นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง พื้นที่ 1,398.04 ไร่ มูลค่าการลงทุน 4,237.17 ล้านบาท

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมอีก 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) พื้นที่ 902.59 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,100 ล้านบาท และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย คลีน อินดัสเตรียล ปาร์ค พื้นที่ 1,319.89 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,447.75 ล้านบาท

เป็นผลให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสม 177,261 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรมดำเนินการเอง 39,332 ไร่ และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 137,929 ไร่ เป็นพื้นที่ขายและให้เช่า 114,852 ไร่ /เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว 92,019 ไร่

จึงยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีก 22,833 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม 4.02 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 6,112 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 515,962 คน

โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ยังคงเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 16.84% อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 11.37% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 9.79% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 8.32% และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ 7.89%

ส่วนนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ถึง 28% รองลงมาคือนักลงทุนจากประเทศจีน 17% ไต้หวัน 9% ออสเตรเลีย 6% และฮ่องกง 6%

“จากการที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์นับเป็นการส่งสัญญานที่ดีที่จะทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ หลังจากที่นักลงทุนชะลอการตัดสินใจมาระยะหนึ่ง ซึ่ง กนอ. เล็งเห็นถึงโอกาสนี้เพื่อพลิกฟื้นวิกฤตต่างๆ ด้วยการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย/เช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. เพื่อจูงใจนักลงทุน โดยแต่ละโปรโมชั่นขึ้นอยู่กับพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะสามารถจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเดิมซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว