รับมือลูกค้าเบี้ยวหนี้ ‘บิ๊กส่งออก’ ยกทัพถกพาณิชย์-เอ็กซิมแบงค์ 13 ก.ค.นี้

ส่งออก
Photo by STR / AFP

‘บิ๊กส่งออก’ ถกพาณิชย์-เอ็กซิมแบงค์ 13 ก.ค.นี้ รับมือปัญหาผู้นำเข้าเบี้ยวชำระหนี้ หลังโควิดทุบเศรษฐกิจทรุดหนัก ส่งออกไทยปี’63 จ่อติดลบ 10%

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ทางกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่ ในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ เกษตร และอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ถุงมือยาง เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น จะประชุมร่วมกับน.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เพื่อหารือถึงสถานการณ์และแนวทางแก้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของผู้นำเข้า

เนื่องจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศคู่ค้าส่งออกหลายประเทศได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ บางประเทศมีลูกค้าประสบปัญหาสภาพคล่อง หรือล้มละลาย จึงมีการเลื่อนชำระเงินค่าสินค้าส่งออก สร้างความเสียหายกับภาคการส่งออกขณะนี้ และกำลังส่งผลกระทบเชื่อมโยงมาถึงสภาพคล่องของผู้ผลิตสินค้าเรียลเซ็กเตอร์แล้วตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

นายสนั่น อธิบายว่า ปัจจุบันการส่งออกไทยปีละ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่ประมาณ 90% จะใช้วิธีการชำระเงินแบบลูกค้าโอนเงินที่ผู้ส่งออกตามที่ตกลงกันไว้ โดยที่ไม่มีการให้แบงก์รับประกัน (TT) เป็นวิธีหลักที่นำมาใช้แทนระบบ L/C หรือ letter of credit เป็นวิธีเก่าที่ใช้เมื่อ 10-20 ปีก่อน เหตุที่ลูกค้าไม่นิยมเปิด L/C กับแบงก์ เพราะต้องวางเงินประกันไว้ที่แบงก์ ทำให้เงินจม และยังต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แบงก์เพื่อค้ำประกันอีก มีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งลูกค้ามีปัญหาสภาพคล่องจ่ายไม่ไหว

“แต่เดิมระบบ TT ไม่มีปัญหา ใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่เพิ่งมามีปัญหาปีนี้จากเศรษฐกิจไม่ดี โควิดทำให้ทำธุรกิจไม่ได้ ไม่มีเงินสดหมุนเวียน ออร์เดอร์สั่งซื้อก็ขอชะลอส่งมอบ เมื่อไม่ได้รับชำระเงินก็กระทบถึงผู้ผลิตสินค้าซึ่งจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ข้อแนะนำตอนนี้คือ ถ้าไม่ใช้วิธีการเปิด L/C กับแบงก์ ก็ต้องสแกนลูกค้าว่ามีฐานะการเงินดีไหม” นายสนั่นกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า สถานการณ์ส่งออกไทยชะลอตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 16,278 ล้านเหรียญ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 22.50% อัตราการเปลี่ยนแปลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่ออุปสงค์ อุปทานที่ลดลง ส่วนการนำเข้าเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีมูลค่า 13,584 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 34.41% ได้ดุลการค้า 2,694 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งผลให้ยอดส่งออก 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 97,899 ล้านเหรียญลดลง 3.71% การนำเข้ามูลค่า 88,808 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.64% ได้ดุลการค้า 9,090 ล้านเหรียญสหรัฐ

กระทั่งล่าสุดนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกฯ (สรท.) ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัว -10% จากเดิมที่ประเมินไว้ทั้งปีที่ หดตัว -8%

โดยมีปัจจัยสำคัญที่กระทบจากมาจากสาเหตุหลักเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการปิดประเทศของหลายประเทศทั่วโลกที่ปัจจุบันแม้จะผ่อนคลายกันบ้างแต่ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติมากนัก ทำให้หลายกิจการยังดำเนินการไม่สะดวกมาก และข้อกังวลเรื่องของการแพร่ระบาดรอบ 2 อีกด้วย ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทางสภาผู้ส่งออกฯ จึงต้องการให้หน่วยงานภาครัฐช่วยส่งเสริมและลดกฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคทางการค้าให้คล่องตัวมากขึ้น