ยกเครื่อง “สวัสดิภาพแรงงานสัตว์”

ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการหารือร่วมกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย เพื่อแก้ปัญหากรณีพีต้ากล่าวหาไทยทารุณกรรมแรงงานลิงเก็บมะพร้าว

ปรากฏว่าได้ข้อสรุป 3 ประเด็นคือ 1.โรงงานผลิตให้ข้อมูลและยืนยันใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับให้ชัดเจน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยติดรหัสบนหีบห่อผลิตภัณฑ์ เพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าผลิตจากมะพร้าวสวนใดและไม่มีการใช้แรงงานลิงหรือทารุณสัตว์

2.สั่งการให้กรมการค้าระหว่างประเทศ เชิญเอกอัครราชทูตอังกฤษและประเทศที่นำเข้ากะทิไทยที่ประจำอยู่ในประเทศไทย และสื่อต่างชาติประจำในประเทศไทย ร่วมตรวจสอบพื้นที่ปลูกมะพร้าวและโรงงานผลิตให้เร็วที่สุด จากนั้นหลังจากเปิดให้ต่างชาติเข้าไทยหลังโควิด-19 คลี่คลายก็จะเปิดให้ผู้นำเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง

และ 3.สั่งการให้ทีมไทยแลนด์และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศชี้แจง ทำความเข้าใจกับผู้นำเข้า โดยยืนยันตามข้อเท็จจริงว่าขณะนี้โรงงานแปรรูปมะพร้าวในไทยกว่า 90% ไม่มีการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวแล้ว

มุมมองของนายโรเจอร์ โลหะนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยและประธานอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ เสนอว่าไทยควรปรับปรุงพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2547 โดยเพิ่มเรื่องสวัสดิภาพลิง จากปัจจุบันที่ดูแลสวัสดิภาพสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข แมว และช้าง

“ภาครัฐปฏิเสธไม่ได้เพราะมีการใช้แรงงานลิงอยู่จริงทั้งในส่วนของอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การแสดงละครสัตว์ ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์ที่นำมาใช้แรงงานตามมาตรฐานที่สากล เพราะกรณีนี้อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการโจมตี”