เกษตรกร “ข้าวโพด-มันสำปะหลัง” ได้ประกันรายได้ต่อ

ในสัปดาห์หน้ากระทรวงพาณิชย์จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563/2564 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสําปะหลัง (นบมส.) และคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (ตามกราฟิก) พร้อมทั้งมาตรการคู่ขนานการประกันรายได้ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาด้วย

โดยมาตรการคู่ขนานประกันรายได้มันสำปะหลังมี 4 โครงการ รวมวงเงินดำเนินการ 339 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 5,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้1,150 ล้านบาท งบประมาณ 69 ล้านบาท

2. สินเชื่อสถาบันเกษตรกร รวบรวมรับซื้อมันสำปะหลัง วงเงินสินเชื่อ1,500 ล้านบาท งบประมาณ 45ล้านบาท

3. ชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้ผู้ประกอบการช่วยเก็บสต๊อกมันเส้น/แป้งมัน ในเวลา 60-180 วัน วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาทงบประมาณชดเชยดอกเบี้ย 225ล้านบาท

4. การบริหารจัดการการนําเข้าส่งออก

นอกจากนี้ นบมส.ยังเห็นชอบขยายพื้นที่ดําเนินโครงการป้องกันและกําจัดโรคใบด่างมันสําปะหลังให้ครอบคลุม 22 จังหวัดที่ปลูกมันสําปะหลังด้วย

เสียหายโรคใบด่าง

นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมเสนอที่ประชุม นบมส. พิจารณางบประมาณสนับสนุนเยียวยาและทำลายมันสำปะหลังที่ติดโรคใบด่างเพิ่ม 1,500 ล้านบาทจากเดิมทีรับงบประมาณแล้ว 248ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอแก้ปัญหาเนื่องจากปัจจุบันความเสียหายกระจายไป 22 จังหวัด รวมพื้นที่ 4.5-5 แสนไร่ เสียหายกว่า 50,000 ล้านบาท

พร้อมทั้งขอให้เร่งรัดเบิกจ่ายงบฯเยียวยาชดเชยที่ล่าช้ามีเกษตรเพิ่งได้รับเพียง 57 ล้านบาท และเสนอของบประมาณอีก 900 ล้านบาทจัดหาท่อนพันธุ์มัน

ขณะที่มาตรการคู่ขนานประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มี 6 มาตรการ วงเงินดำเนินการ 50 ล้านบาท ได้แก่

1. สินเชื่อสถาบันเกษตรช่วยรวบรวมรับซื้อชดเชยดอกเบี้ย 3% วงเงินสินเชื่อ1,500 ล้านบาท วงเงินชดเชยดอกเบี้ย45 ล้านบาท

2. ชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบการค้าเพื่อช่วยเก็บสต๊อกเป็นเวลา 60-120 วัน ชดเชยดอกเบี้ย 3% วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินชดเชยดอกเบี้ย15 ล้านบาท

3. กำหนดช่วงเวลาการนำเข้าข้าวโพดสำหรับผู้นำเข้าทั่วไป

4. กำหนดสัดส่วนให้รับซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน

5. กำหนดให้แสดงราคา ณ จุดรับซื้อ

6.การดูแลความสมดุลสินค้า


โดย นบขพ.ได้รับทราบการขึ้นบัญชีสินค้า กาก DDGS เป็นสินค้าควบคุมใหม่ ปี 2563 โดยให้แจ้งปริมาณการครอบครองนำเข้า จัดเก็บสต๊อก เป็นต้น