ปศุสัตว์ขีดเส้น 90 วันปิดจ็อบกาฬโรคม้าตาย 561 ตัว

กาฬโรคม้าคลี่คลายหยุดตายที่ 561 ตัว”ปศุสัตว์” ยังเฝ้าระวังต่อเนื่องในช่วงกักตัวม้า 90 วัน ก่อนคลายล็อกดาวน์ทุกกิจกรรม เร่งนำเข้าจากแอฟริกาลอต 3 เพิ่มกว่า 5,000 โด๊ส หวังรักษาม้าป่วยสะสมใน 30 จังหวัด ชี้สถานการณ์ม้านอกระบบล้นกว่าครึ่ง ส่วนใหญ่เป็นม้าแข่ง ม้าชายหาดเร่งวางมาตรการตรวจสอบม้าลายนำเข้าหลังออกประกาศตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 8 เม.ย. 63

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าความคืบหน้าการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกันในม้า (African HorseSickness : AHS) ปัจจุบันเริ่มคลี่คลายมากขึ้น กรมสามารถประกาศควบคุมตามวงจำกัดได้ ไม่มีม้าตายเพิ่มที่อยู่ในรัศมี ประกอบกับปัจจัยหลักในการควบคุมคือการนำเข้าวัคซีน ขณะนี้การนำเข้าวัคซีนจากประเทศแอฟริกาสามารถนำเข้ามาแล้ว 2 รอบ รอบที่ 1 วันที่ 17 เม.ย. 63 จำนวน 4,000 โด๊ส ภาคเอกชนบริจาค โดยนายพงษ์เทพ เจียรวนนท์ อุปนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ผลิตอาหารม้าแมกซ์วิน (MAXWIN) กรมปศุสัตว์จึงได้นำไปฉีดป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกันในม้าครั้งแรกของไทย ที่สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลอง สถานเสาวภา สภากาชาดไทย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจุดเกิดโรคอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร และมีม้าจำนวน 560 ตัว ซึ่งม้าดังกล่าวเป็นม้าที่ใช้สำหรับผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและเซรุ่มแก้พิษงู

“จากการติดตามผลการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ประจำสถานเสาวภา ปรากฏว่าไม่มีม้าที่แสดงอาการแพ้วัคซีน และจากการตรวจสุขภาพไม่พบสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนรอบที่ 2 วันที่ 14 พ.ค. 63 จำนวน 4,000 โด๊ส กรมปศุสัตว์จัดซื้อ และล่าสุดรอบที่ 3 กรมปศุสัตว์จัดซื้อเพิ่มเติมอีก 5,000 โด๊สคาดว่าวัคซีนน่าจะถึงไทยประมาณวันที่15 ก.ค. 63 นี้”

ขณะเดียวกันแม้ยังมีการระบาด แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องโดยไม่พบการตายเพิ่ม นับจากวันแรกที่เริ่มฉีดวัคซีน 19 เม.ย.ที่ผ่านมา มียอดตายสะสม 561 ตัว ป่วยสะสม 603 ตัว (23 มิ.ย. 63) 30 จังหวัด ยอมรับว่าข้อจำกัดการควบคุมส่วนหนึ่งคือจำนวนม้าไทยที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ซึ่งจากการสำรวจจำนวนม้าในประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนการเลี้ยงม้าเพิ่มขึ้น อย่างมาก จากก่อนหน้านี้ที่มีประมาณ 5,000 กว่าตัวเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีม้า 18,093 ตัว ซึ่งเป็นม้าที่อยู่ในระบบ ส่วนที่เหลือเป็นม้าเลี้ยงของเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบอีกจำนวนมากอาทิม้าแข่ง ม้าขี่ ม้าเดินชายหาดม้าแห่นาค

อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ต้องดำเนินการให้ครบ 90 วัน (นับจากวันที่ได้รับวัคซีน) ซึ่งตัวชี้วัดจะคลายล็อกสถานการณ์ม้าและจะมีการอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความร่วมมือกับผู้เลี้ยง รัฐ ภาคเอกชน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคลายล็อกกิจกรรมม้าแข่งและอื่น ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด

ประกอบกับการทำแผนปฏิบัติการกำจัดโรค AHS เพื่อคืนสถานภาพปลอดโรคจาก OIE ของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 ระยะ โดยระยะแรก คือ ระยะเผชิญเหตุ ซึ่งไทยอยู่ในระยะแรก ถ้าไม่มีรายงานม้าป่วยตายต่อเนื่องระยะเวลา 30 วัน จะสามารถเข้าสู่ระยะสองคือ ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติโรคซ้ำ และระยะสาม คือ การขอคืนสภาพปลอดโรคของประเทศไทย ต่อไป

ส่วนประเด็นการนำเข้าม้าลายที่ยังเป็นที่สงสัย ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ 2558 เช่น กระซู่กระทิง กวาง จิงโจ้ ยีราฟ แรด สิงโตเสือ หมี อูฐ หรืออัลปาก้า คือสัตว์ป่าที่ประกาศไว้ตั้งแต่ 28 กันยายน2558 และลงในราชกิจจาฯ 13ตุลาคม 2558 และเพิ่งจะมีการประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ให้เพิ่มม้าลาย หรือสัตว์ตระกูลม้าทั้งหมดเข้าด้วยกันดังนั้น จึงขอย้ำว่า ก่อนหน้าที่จะมีประกาศฉบับนี้ ทางกรมปศุสัตว์ไม่มีอำนาจหน้าที่ เพราะเป็นหน้าที่ของทางกรมอุทยานฯ ซึ่งจะมีขั้นตอนการดำเนินการ และมีการตรวจโรคจากประเทศต้นทาง จึงจะสามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้ เมื่อได้นำเข้ามาแล้วก็จะมีการดำเนินการตรวจตามบัญชีชนิดสัตว์อีกครั้ง โดยกรมศุลกากรทำหน้าที่ตรวจสอบ ส่วนกรมปศุสัตว์เพียงแค่รับทราบว่ามีม้าลายเข้ามาและเจ้าของคือใครเท่านั้น

“ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่า สาเหตุหลักมาจากม้าลาย แต่ยังไม่มีการยืนยันทางวิชาการ ซึ่งในส่วนของม้าลายต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ก่อนวันที่ 8 เมษายน 2563 ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ในการที่จะนำเข้าส่งออก และหลังวันที่ 8 ไม่มีใครมาขออนุญาตนำเข้าม้าลายเลย ดังนั้นไม่ได้เป็นสัตว์ที่อยู่ในอำนาจของกรมปศุสัตว์ แต่หลังจากเกิดกาฬโรค กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ต้องไปติดต่อที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และดำเนินการควบคุมร่วมกับทุกภาคส่วน กระทั่งคลี่คลายได้มากขึ้นขณะนี้” นายสรวิศกล่าว