“สุชาติ จันทรานาคราช” ค่าจ้างถูกไม่สำคัญเท่าคุณภาพแรงงาน

สัมภาษณ์พิเศษ

แรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติ ที่ผ่านมาไทยมีจำนวนแรงงาน 38.5 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรที่มีประมาณ 66-67 ล้านคน แต่ยังไม่เพียงพอและมีการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ถึง 2.5 ล้านคน โดยเฉพาะในประเภทงานที่แรงงานไทยไม่อยากทำส่งผลให้เกิดต้นทุนทางสังคมอย่างมากและทำให้หลายฝ่ายนิ่งนอนใจไม่แก้ปัญหาด้านแรงงานอย่างแท้จริง

“สุชาติ จันทรานาคราช” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์แรงงานไทยปัจจุบันว่าปัญหาแรงงานต่อการลงทุน

ตอนนี้ผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่นย้ายฐานไปเวียดนามไม่น้อย เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องรู้เรื่องนี้ ต้องรู้ตัวว่าไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่น่าลงทุนแล้ว ยังมีเวียดนามเขาน่าลงทุนอย่างมาก เราจะปรับยุทธศาสตร์อย่างไรในเรื่องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามา

ประเด็นเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เราได้คุยกับ JCC และเจโทร ผู้ประกอบการที่ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งให้ข้อคิดเห็นว่าเรื่องคุณภาพแรงงานไทยกับเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งที่เอกชนต่างชาติตัดสินใจไปลงทุนในเวียดนาม ปัจจัยแรกสุดก่อนตัดสินใจลงทุนคือ แรงงานมีจำนวนพอหรือไม่ และคุณภาพของแรงงานเป็นอย่างไร ซึ่งแรงงานเวียดนามมีจำนวนแรงงานถึง 90 ล้าน คนไทยมีเพียง 60-70 ล้านคน แรงงานเวียดนามมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ใฝ่หาความรู้ สติปัญญาดี และไม่เกี่ยงงาน

ต้นทุนแรงงานถูกไม่ใช่ค่าแรงถูก

นักลงทุนชี้ว่าเรื่องค่าแรงไม่ใช่ประเด็นใหญ่แต่เรื่องประสิทธิภาพแรงงานต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญที่เวียดนามดีกว่าไทยมาก อาจเรียกว่าประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ำสุดในภูมิภาค ไทยต้องดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราได้พยายามเสนอต่อภาครัฐตลอดว่าปัญหาประสิทธิภาพแรงงานไทยถูกละเลย เพราะอดีตการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มีมาก แรงงานไทยมีเหลือเฟือ และราคาก็ถูก 300 กว่าบาท มาถึงจุดหนึ่งเมื่อแรงงานมันไม่พอ ก็อาศัยแรงงานต่างด้าวซึ่งเดิมเข้ามาทำงานถึง 3.5 ล้านคน ตอนนี้เหลือ 2.5 ล้านคน

มาทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ ทำให้ปัญหาไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ จริงอยู่ที่แรงงานกลุ่มนี้มาช่วยเศรษฐกิจเราแต่ว่าผลที่ตามมาคือ ต้นทุนทางสังคมของเรา เพราะการเข้ามาอาศัยตั้งครอบครัวใช้ระบบสาธารณสุข ระบบต่าง ๆ ซึ่งคิดเป็นต้นทุนของประเทศไทย

ตกงานเพิ่มหลัง New Normal

ในยุคหลังโควิดจะเป็น new normal ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จะมีการปรับปรุงใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เราห่วงว่าแรงงานเหล่านี้จะไม่มีงานทำ ถ้าเราสามารถปรับปรุงแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพดี ช่วยทำให้ “ต้นทุนแรงงานถูก” ซึ่งนั่นไม่ใช่ “ค่าแรงถูก” แต่คือความคุ้มค่าของการลงทุนผลิต

“ประเด็นนี้จะทำให้การลงทุนจากต่างชาติและไทยมากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดีขึ้น จำนวนงานและตำแหน่งงานก็จะมากขึ้น แต่ถ้าสมมุติว่ายังเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ประเทศไทยจะเหี่ยวเฉาลง ความน่าลงทุนลดลง ตำแหน่งงานจะน้อยลง ขณะที่ new normal เกิดโอกาสที่ประเทศไทยการว่างงานมากขึ้น”

งบฯน้อย-แรงงานไม่ตอบโจทย์

เราเคยเสนอว่ากระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักแต่ได้รับงบประมาณน้อยมากจนน่าแปลกใจปีละ 30 ล้านบาท ขณะที่เรามีแรงงานไทย 38.5 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 67 ล้านคน แยกเฉพาะภาคอุตสาหกรรม มีแรงงาน 6.5 ล้านคน จาก 38.5 ล้านคน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีให้ประเทศสัดส่วนถึง 30% ถ้าสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงานของภาคอุตสาหกรรมได้จะทำให้เราใช้แรงงานต่างด้าวน้อยลง ลดต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้น

แต่สถานการณ์ขณะนี้คือ ภาคอุตสาหกรรม เช่น ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างโตโยต้าพัฒนาแรงงานของเขาเองเป็นการพัฒนาทักษะประสิทธิภาพแรงงานของสถานประกอบการเอง ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคน

อีกอันหนึ่งที่เป็นเรื่องน่าเศร้า คือเรื่องดีมานด์และซัพพลายแรงงาน คือไม่มีการต่อท่อระหว่างสถาบันการศึกษากับเอกชน บัณฑิตที่จบมาไม่ตรงตามที่อุตสาหกรรมต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต่างก็รับรู้มา 10 กว่าปีที่แล้ว แต่เห็นว่ายังมีค่านิยมที่ให้ลูกหลานจบปริญญาตรี ทั้งที่ไม่ใช่คุณวุฒิที่ภาคเอกชนต้องการ เพราะเราขาดช่างเทคนิคที่มีคุณภาพ นี่จึงทำให้ภาคเอกชนบางรายเทรนนิ่งคนของเขาเอง

ยกเครื่องประสิทธิภาพแรงงาน

เราจะเสนอต่อภาครัฐว่าควรจะกำหนดให้เรื่องพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ เพราะจะทำให้มีการดูแลเรื่องนี้ ทั้งเรื่องงบประมาณ จากเดิมงบฯสำหรับพัฒนาฝีมือแรงงานที่กรมได้ปีละไม่เกิน 30 ล้านบาท แค่อบรมสัมมนาก็หมดแล้ว จำเป็นต้องมีเงินประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งเราจะต้องยกขึ้นมาหารือกับรัฐบาลยิ่งถ้ามีทีมเศรษฐกิจใหม่เราต้องคุย

ส่วนรูปแบบการบริหารจัดการจะมาเป็นกองทุนหรืองบประมาณของกระทรวงแรงงานก็ไม่มีปัญหาแบบใดก็ได้ แต่เน้นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งประเด็นนี้กระทรวงทำเองไม่ได้ต้องมีภาคเอกชนเป็นลีด ทั้งเรื่องการรีสกิล-อัพสกิลแรงงานที่มีอยู่

ดูดลงทุน-หนุนเศรษฐกิจ

สิ่งที่จะได้มาหลังจากที่ปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงานแล้วคือ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ต่างชาติต้องการที่จะลงทุน ถึงแม้ว่าเราให้สิทธิประโยชน์กับผู้ลงทุนต่างชาติ แต่อันหนึ่งที่จะเป็นการดึงดูดเขาเข้ามาคือ คุณภาพของแรงงานในประเทศไทย

“ตอนนี้ประสิทธิภาพแรงงานประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 54 เราตกอันดับลงมานี่คือเรื่องสำคัญมาก ทางไอเอ็มดีคือผู้ทำแบบสำรวจนี้ หากจะเหมาะสมไทยควรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันไทยห่างกับมาเลเซียถึง 10 อันดับ ฉะนั้น นี่คือสิ่งสำคัญที่หลังโควิดจะต้องมานั่งคิดและคุยกันว่าตั้งแต่นี้ไปเราจะทำอะไรบ้าง การบริหารจัดการ ปรับองค์กรให้เล็กลง รีสกิลอัพสกิลแรงงาน ปรับปรุงรูปแบบการจ้างให้มีความยืดหยุ่น ลดลูกจ้างประจำและใช้เอาต์ซอร์ซ แต่ก่อนอื่นเราต้องยอมรับปัญหานี้ก่อน เพื่อนำมาสู่การหาทางออกอย่างจริงจัง”

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน