เผือกร้อนรับ รมว.พลังงาน แก้ PDP – เติมเงินช่วยค่าไฟ

ลุ้นนโยบาย รมต.ใหม่ อัดฉีดลงทุน-ผ่านแผนพีดีพี-สานต่อโซลาร์ประชาชน จับตา กกพ. หมดกระสุนบริหารจัดการเงินค่าไฟฟ้าอุ้มค่าครองชีพประชาชน หลายปัจจัยเศรษฐกิจ โควิด-19 หวั่นระลอก 2

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า หลังจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลาออกจากตำแหน่ง จะส่งผลต่อโครงการลงทุนด้านพลังงานหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่นโยบายรัฐบาลจะพิจารณาดำเนินการอย่างไร โครงการใดที่รอการอนุมัติเป็นแผนระยะยาว แผนปรับปรุงแผนพัฒนาไฟฟ้าของประเทศ ระยะยาว 20 ปี (PDP 2018) ที่บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนไว้นั้นต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ส่วนนโยบายการผลักดันการผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนหรือโซลาร์ภาคประชาชนแน่นอนว่าจะยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะมีเพียงผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาสามารถผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ หรือ COD จำนวน 4 เมกะวัตต์ที่เข้าระบบจากเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพในขณะนี้ หลายองค์กรได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลโดย กกพ.เพิ่มมาตรการช่วยเหลือภาคประชาชนให้ลดค่าไฟฟ้า หากเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 นั้น ต้องยอมรับว่านับจากช่วงมีนาคมที่ผ่านมา กกพ.ได้นำงบประมาณบริหารจัดการค่าไฟฟ้าเต็มที่แล้ว ดังนั้น ต้องมีการพิจารณาอีกครั้งตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ และการลงทุนทั้ง 3 การไฟฟ้า จะเห็นว่ายอดการใช้ไฟฟ้าลดลงตามเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าห่วงมาก

จากก่อนหน้านี้ที่ภาวะราคาเชื้อเพลิงสะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจชะลอตัว กกพ.ได้ออกมาตรการ อาทิ ดูแลผลกระทบการลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 การลดค่าเก็บค่าไฟฟ้า การลดค่าไฟฟ้าตามมติรัฐบาล รวมถึงลดราคาค่าไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยนั้น อาจส่งผลต่อการจัดการเงินทุน เนื่องจากได้ประเมินงบประมาณไว้รวม 29,255 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณบริหารจัดการ กกพ.คงเหลือที่ 25,279 ล้านบาทเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2563 ลงอีก 0.83 สตางค์ต่อหน่วย หรือเรียกเก็บค่าเอฟที -12.43 สตางค์ต่อหน่วย ที่สะท้อนต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริง ซึ่งลดลงจากเดิมเรียกเก็บที่ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงเหลือ 3.63 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คาดว่าจะใช้งบประมาณส่วนเกินเพิ่มเติมอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งต้องรองบประมาณบริหารจัดการประจำปี 2563-2564 จากการลงทุนด้วย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นในการเพิ่มมาตรการ เพื่อรักษาค่าครองชีพประชาชน อาจต้องจัดสรรงบประมาณช่วยเพิ่มเติมนอกเหนือจากงบฯปี 2563-2564


“ที่ผ่านมา กกพ.ตรึงค่าไฟฟ้ามา 10 งวดแล้ว เต็มที่มาก ๆ และใช้เงินบริหารจัดการค่าไฟฟ้าที่ช่วยเหลือนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 เราประเมินไม่ได้ ทำให้ตอนนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบขึ้นมาก โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าปีนี้ 2563 GDP ประเทศลดลงร้อยละ 8.1 นั้น จะสะท้อนการใช้ไฟฟ้าปีนี้จะลดลงประมาณร้อยละ 6.5 จะส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้างวดต่อไป (ม.ค.-เม.ย. 64) ต้นทุนขยับสูงขึ้นด้วย”