“ทียู” แนะรัฐต่อยอด BCG ปล่อยกองทุนนวัตกรรมหมื่นล้าน

ในขณะที่กลุ่มอาหารถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ “นายธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู และในฐานะผู้นำแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกลุ่มสาขาอาหาร โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กล่าวว่า หลังปัญหาของโควิด-19 ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนานวัตกรรมใน 9 สาขาให้มีความมั่นคงมากขึ้น โดยภายหลังรับฟังความเห็นจะสรุปข้อมูลเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

คาดหวังว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุน และปลดล็อกเงื่อนไข ขั้นตอน กฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พร้อมทั้งสนับสนุนเงินกองทุนนวัตกรรมให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ปัจจุบันมีกองทุนอยู่แล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่การใช้ประโยชน์ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

“การดำเนินการโครงการนี้ได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว 2 ครั้ง พร้อมกับเสนอต่อนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 ทำให้โครงการชะลอล่าช้าไปบ้าง แต่เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ เป้าหมายสำคัญของโครงการเพื่อให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้ง 9 กลุ่มสำคัญ รวมไปถึงการสร้างความมั่นคง เข้มแข็งให้กับเอกชนและประเทศในการแข่งขันในเวทีโลกได้”

ในส่วนของบริษัทไทยยูเนี่ยนซึ่งเป็นผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องไปในตลาดโลก พบว่า ในกระบวนการผลิตสินค้านั้นจะมีวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตหรือบายโปรดักต์ ซึ่งได้พัฒนาโดยนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ เช่น การนำส่วนน้ำมันปลาทูน่ามาพัฒนาต่อยอดเป็นส่วนผสมในนมผงเด็กเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะมีการศึกษาถึงประโยชน์ที่มีต่อการผลิต หรือแม้แต่กากปลาซึ่งมีประโยชน์ของแคลเซียม บริษัทได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลวิจัยพัฒนาส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีอาหารผู้ป่วยซึ่งในแต่ละปีไทยต้องนำเข้ามากกว่า 1,000-10,000 ล้านบาท

หากประเทศไทยสามารถพัฒนาอาหารเหล่านี้ขึ้นมาจะช่วยลดการนำเข้าได้มาก โดยขณะนี้เริ่มมีโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชั่นหรือผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร โครงการยกระดับอาหารริมทาง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนานวัตกรรมแต่ละชิ้นต้องใช้ระยะเวลานานไม่ต่ำกว่า 5 ปี หากต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจำเป็นต้องอาศัยภาครัฐเข้ามาสนับสนุน