“จีน” ตื่นโควิดแฝงในอาหาร ลุยตรวจ 3 หมื่นสินค้านำเข้า

“จีน” ตั้งการ์ดเข้มตรวจ “อาหาร-สินค้าเกษตร” นำเข้า หวั่นเชื้อไวรัสโควิด-19 แทรกซึมระบาดระลอก 2แค่เดือนครึ่งเดือน มิ.ย. ตรวจ 3 หมื่นตัวอย่าง แบนนำเข้าบริษัทสหรัฐ-อียู 4 ราย ด้านเอกชนไทย มั่นใจ “ฟู้ดเซฟตี้” ดันส่งออกครึ่งปีหลังยังไม่ตก เร่งขยายกำลังการผลิต “ไก่” รับดีมานด์โลกพุ่ง

ผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ในจีน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อไวรัสที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดซินฟาตี้ (Xinfadi Wholesale Market) ในกรุงปักกิ่ง ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์จีนเพิ่มมาตรการตรวจสอบการนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตรจากประเทศต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคจีน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซียะเหมินรายงานว่า ในระหว่างวันที่ 11-17 มิถุนายน 2563 หน่วยงานศุลกากรแห่งชาติจีน ได้ตรวจสอบไวรัสโควิด-19 ในสินค้านำเข้าทั้งเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำผัก ผลไม้ เป็นต้น รวม 32,174 รายการแต่ทุกรายการมีผลตรวจสอบเป็นลบ (negative) แสดงว่าไม่พบเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม จีนได้ระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์จากหลายประเทศ เนื่องจากพบว่ามีคนงานในโรงงานที่ผลิตเนื้อสัตว์ในประเทศต้นทางได้ติดเชื้อโควิด-19เช่น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 จีนระงับการนำเข้าเนื้อหมูจากบริษัท Toennies จำกัด จากประเทศเยอรมนี วันที่ 21 มิถุนายน 2563 จีนระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากบริษัท Tyson Food จำกัด จากประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท Tulip จำกัด จากสหราชอาณาจักร สมัครใจระงับการส่งออกเนื้อหมูไปจีน ขณะเดียวกันที่บริษัท Agra จำกัด จากประเทศบราซิล สมัครใจระงับการส่งออกเนื้อวัวไปจีน เนื่องจากคนงานของบริษัททั้ง 2 แห่งติดเชื้อโควิด-19

“ผลจากการแพร่ระบาดระลอก 2 ในกรุงปักกิ่ง ทำให้รัฐบาลจีนกำหนดมาตรการคุมเข้ม โดยเฉพาะการนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตร ดังนั้น เพื่อป้องกันกรณีที่จีนประกาศระงับการนำเข้าสินค้าดังกล่าว ขอให้ผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรไทยไปยังจีน ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานของจีนที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและสุขอนามัยด้านอาหารอย่างเคร่งครัด”

ส่งออกเนื้อสัตว์ไทย

แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์ เปิดเผยว่าไทยมีการดูแลมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการผลิต และมีการป้องกันดูแลการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ดีจนสามารถทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อในประเทศมากว่า 40 วัน ซึ่งผู้นำเข้าต่างชาติมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าจากไทย โดยคาดว่าแนวโน้มความต้องการสินค้าปศุสัตว์ในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตดีทั้งหมูและไก่เนื้อ ยังมีโอกาสเติบโตได้ดีต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกลุ่มไก่เนื้อ ซึ่งขณะนี้ได้รับการรับรองจากจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 22 โรงงาน ในจีนประสบปัญหาเรื่องการระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) จึงทำให้ผลผลิตเสียหาย ต้องเพิ่มการนำเข้าโปรตีนทดแทนจากทั่วโลก ขณะที่คู่แข่งเวียดนามซึ่งเป็นผู้ผลิตหมูรายใหญ่เลี้ยงมากกว่าไทย 3 เท่าก็ประสบปัญหาโรค ASF ระบาดเช่นกัน

ขณะที่คู่แข่งผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อการส่งออกทั้งบราซิลและอเมริกาประสบปัญหาเรื่องโควิด-19 รุนแรง ซึ่งถ้าจีนอาจจะไม่สามารถส่งออกไปได้เพียงพอต่อความต้องการ

“กลุ่มผู้ผลิตไก่รายใหญ่ต่างมองเห็นถึงโอกาสทำตลาดที่ดีเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้หลายรายวางแผนขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตล่วงหน้าไปแล้ว เพราะในวงการนี้เรารู้ว่าสินค้าปศุสัตว์มีลูกฟลุก มีจังหวะที่จะทำกำไรได้ การเติบโตเป็นไปอย่างเงียบ ๆมี 5-6 รายที่เป็นเจ้าตลาด คือ ซีพีเอฟ เบทาโกร คาร์กิล ไทยฟู้ด สหฟาร์ม และจีเอฟพีที แต่มีผู้ผลิตไก่ครบวงจรตั้งอาหารสัตว์ ฟาร์ม และอาหารคนประมาณ14 โรงงาน ซึ่งจะเริ่มเห็นการลงทุนขยายโรงงานและโรงเชือดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการเดิมเป็นหลัก”

รายงานข่าวระบุว่า สถานการณ์การขยายกำลังการผลิตขณะนี้ มีกลุ่ม GFPT อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 3ขึ้นใหม่ที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จากเดิมที่มี 2 แห่งที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มจาก 2.5 แสนตัว/วัน เป็นประมาณ 4-5 แสนตัวต่อวัน ขยับขึ้นเป็นอันดับ 6 ใกล้เคียงกับกลุ่มสหฟาร์ม

ขณะที่พนัสโพลทรี่ กรุ๊ป จำกัด เพิ่มกำลังการผลิตจาก 5.6 เป็น 6.6 แสนตัวต่อวัน ขณะที่เจ้าตลาดอย่างซีพีเอฟ 1 ล้านตัวต่อวัน มีโรงงาน 4 ยูนิต

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเซ็นทาโกที่อยู่ระหว่างการเตรียมก่อสร้างโรงเชือดที่ จ.สระบุรี โดยได้ประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว หลังจากนี้ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี แล้วเสร็จในปี 2565 ทั้งนี้ หากทุกกลุ่มขยายกำลังการผลิตครบ คาดว่าปริมาณการเชือดจะมีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 33 ล้านตัว/วัน