“มนัญญา” ปลดล็อก 13 สมุนไพร ขิง ข่า ตะไคร้ หลุดบัญอันตราย

สัมภาษณ์

นโยบายลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เป็นหนึ่งในความพยายามการปฏิรูปภาคเกษตรภายใต้การขับเคลื่อน “นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่เพียงเฉพาะการแบน 3 สารเคมีที่เป็นปมร้อน ล่าสุดการเสนอ “ปลด” พืชสมุนไพร 13 ชนิด ออกจากบัญชีวัตถุอันตรายเป็นอีกปมที่ปะทุขึ้นมา

ที่มาปลดล็อก 13 พืชสมุนไพร

พืชสมุนไพร 13 ชนิด คือ สะเดา ชา/กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายยาก ถูกล็อกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2556 ซึ่งตามนโยบายที่มุ่งหวังให้ลดการใช้สารเคมี จึงคิดว่าเป็นโอกาส ปลดล็อกเพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์พืชดังกล่าวกำจัดและป้องกันวัชพืชเป็นภูมิปัญญาของไทยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าที่ผ่านมาพืชกลุ่มนี้ยังคงเดิมวัตถุอันตราย 2 (วอ.2) ซึ่งถือว่าเป็นวัตถุอันตรายที่การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องทำการขึ้นทะเบียน เพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์ความเป็นพิษและต้องทดสอบหาอัตราการใช้ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด แต่ถ้าเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 (วอ.1) ไม่ต้องทำการขึ้นทะเบียนแต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพืชชนิดนั้น

เกษตรเดิมจากภูมิปัญญาไทย

จริง ๆ แล้ว พืช 13 ชนิด ทำกันมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย ทำไมจะทำไม่ได้ส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้ อย. กระทรวงสาธารณสุขแต่สำหรับกรมวิชาการเกษตร พืชเหล่านี้มีคุณสมบัติกำจัดวัชพืชมานานแล้ว เราต้องการให้เกษตรกรนำพืชเหล่านี้มาใช้กำจัดวัชพืช เป็นภูมิปัญญาไทย ต้องทำความเข้าใจ เดี๋ยวจะเข้าใจสับสนว่า รัฐมนตรีมาล็อกพืช 13 ชนิดนี้ แล้วควบคุมในครัวเรือน เข้าใจผิด เป็นตรงกันข้ามเลยเรามาปลดล็อกให้เกษตรกร แต่เราต้องทำร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เหมือนกับวัตถุอันตรายอื่น ๆ

รูปแบบการผลิต/จำหน่าย

มีหลายเคสทำหนังสือถึงกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับสมุนไพรไทยที่ใช้เป็นยากำจัดศัตรูพืชได้หรือไม่ ที่ผ่านมามีโครงการใหญ่ ๆ เช่น โครงการหลวงทำเกษตร จำเป็นต้องใช้สมุนไพรกำจัดศัตรูพืช ขออนุญาต “ทำน้ำหมัก” กลัวว่าถ้าหมักแล้วจะมีสารวัตรเกษตรเข้าจับกุม ทางกระทรวงเกษตรฯไม่สามารถอนุมัติได้ จึงเป็นที่มาการทำเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาในส่วนของสารสกัดที่เป็นน้ำมีความเป็นพิษ กลุ่มพ่อค้าถือโอกาสนำสมุนไพรไทยที่ใช้ในครัวเรือนมาตากแห้งและบดเป็นผงไปผสมส่วนผสมสารเคมีอื่น ๆแล้วส่งเข้ามาเป็นชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชขายให้เกษตรกรไทยในราคาสูงขึ้นเพราะกฎหมายไม่ได้ควบคุมส่งออกแต่หากปลดล็อกได้ เกษตรกรจะมีสารชีวภัณฑ์ไว้ใช้ลดต้นทุนการนำเข้า และปลอดภัยหรือเคสสารกำจัดแมลงที่นิยมคือสะเดา แต่ก็ถูกจัดไว้ในบัญชี วอ.2 ซึ่งอาจค้านกับความรู้สึกคนไทย

“ดิฉันเห็นว่าเมื่อภูมิปัญญาไทยมี ราชการมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการนำมาใช้ และส่งเสริมสมุนไพรบ้านเราด้วยส่วนจะใช้สัดส่วนหรือปริมาณอย่างไร ฝ่ายวิชาการก็ทำหน้าที่ แต่ไม่ใช่ปิดกั้นหรือห้าม ทำให้เกษตรกรไทยต้องพึ่งพาแต่ของต่างชาติ ต้องนำเข้าเพียงทางเดียว อนาคตเราอาจมีสารสกัดจากพืชชนิดเยี่ยมก็เป็นได้”

ดังนั้น เกษตรกรสามารถนำสมุนไพรรูปแบบ “ผงสมุนไพร” ไปใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ในส่วนที่เป็น “น้ำ” ต้องดูส่วนผสม และการนำไปใช้งาน ว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่พืชสมุนไพรกลุ่มนี้ถือเป็นพืชที่นำมาใช้เป็นสารควบคุมแมลงทดแทนสารเคมีจำกัดศัตรูพืช เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ดึงงานวิจัยมาใช้ประโยชน์

แน่นอนว่าจะเป็นการเปิดทางเบื้องต้นเพื่อให้คนไทยสามารถคิดค้น วิจัย หรือพัฒนาสูตรต่าง ๆ ทางการเกษตร หรือสารอินทรีย์ หรือสารชีวภัณฑ์เพื่อใช้ในแปลงเกษตรกรได้หลากหลายมากขึ้นที่สำคัญเพื่อลดความกังวลการผลิตสารเพื่อใช้ในครัวเรือนจะผิดกฎหมาย พ.ร.บ.วัตถุอันตราย

อย่างไรก็ตาม กรณีสารตาม วอ.2หากต้องการผลิตเพื่อการค้าให้มีการขึ้นทะเบียนและแจ้งการดำเนินการ ตามหลักเกณฑ์วิธีการของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535มูลค่าตลาดสมุนไพรประเทศไทยยังนิยมปลูกในครัวเรือนเป็นภูมิปัญญาไทย ส่วนที่รายงานด้านตัวเลขกรมวิชาการเกษตร ที่ปลูกเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดพืชสมุนไพร

ปัจจุบันมีมูลค่าการส่งออกปีละนับแสนล้านบาท โดยสมุนไพรกลุ่มเสริมอาหารมูลค่า 80,000ล้านบาท กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มูลค่า 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มูลค่า 10,000 ล้านบาท เป้าหมายเราคือปลดล็อกนำพืช 13 ชนิด ไปทดแทนสารเคมีก่อนไม่ได้มุ่งหวังเชิงการค้า หรือเอื้อประโยชน์ใคร บางพื้นที่ถ้าจะทำเเปลงใหญ่ก็สามารถทำได้เลย คาดว่าเดือนสิงหาคม 2563 จะเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้