“เฉลิมชัย” ฟุ้งผลงาน 1 ปี ตลาดนำผลิต อุ้มเกษตรกรฝ่าโควิด อู้ฟู่กว่า 1.2 แสนล้าน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ในช่วง 1 ปีที่เข้ามาบริหารกระทรวงเกษตรฯนโยบายสำคัญที่ผลักดันมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรให้สูงขึ้น คือโครงการตลาดนำการเกษตร โดยปัจจุบันได้จับมือกับภาคเอกชน เพื่อจำหน่ายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

โดยการขายผ่านออนไลน์ได้ร่วมมือกับเจ้าของแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพอย่างลาซาด้า กับชอปปี้ เพื่อจำหน่ายสินค้าที่ได้จากโครงการแปลงใหญ่ ที่สามารถรับรองคุณภาพ มาตรฐานและตรวจสอบย้อนกลับได้ จากการดำเนินการในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา พบว่ายอดจำหน่ายทางออนไลน์เพิ่มขึ้นมากถึง 30%

ส่วนสินค้าที่พบว่าสามารถขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 คือ ไก่เนื้อ ที่จีนให้การรับรองโรงงานของไทยเพิ่มอีก 15 แห่ง ทำให้ปัจจุบันมีโรงเชือดสัตว์ปีกของไทยที่สามารถส่งออกไปจีนได้แล้ว 22 แห่ง คาดว่าไทยจะสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและชิ้นส่วนสัตว์ปีกแช่แข็งไป จีนในปี 2563 ได้มูลค่ามากกว่า 12,000 ล้านบาท

นอกจากนี้จีนยังต้องการเนื้อสุกรจากไทยจำนวนมาก สืบเนื่องมาจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF )ที่ระบาดหนักในจีน เวียดนาม และตามชายแดนของไทย ทำให้ทุกประเทศดังกล่าวขาดแคลนเนื้อสุกรอย่างหนัก ในขณะที่ไทยเป็นประเทศเดียวที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯร่วมมือกับภาคเอกชนควบคุมตรวจสอบการนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศอย่างเข้มงวดส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรในต่างประเทศขณะนี้มีราคาสูงมาก และต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังทำได้ไม่เต็มที่ เพราะผลผลิตไม่เพียงพอ อีกทั้งยังต้องควบคุมราคาภายในประเทศไม่ให้สูงเกินไป แต่ทั้งนี้ได้ประสานกับ สปป.ลาวเพื่ออำนวยความสะดวกให้เนื้อสุกรไทยผ่านแดนไปยังจีนได้ โดยเนื้อสุกรที่ส่งออกนี้จะมาจากเขตการเลี้ยงที่สามารถควบคุมบริหารจัดการเป็นพิเศษ ซึ่งเบื้องคาดว่าลาวจะให้การอนุโลม เพราะทุกประเทศขาดแคลนเนื้อสุกรกันหมด

“แผนงานต่างๆ เหล่านี้กระทรวงเกษตรผลักดันมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ และใช้ภาคการเกษตร เช่นจ้างแรงงานชลประทาน สร้างแหล่งน้ำ รองรับอาชีพของพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ก่อนหน้านี้ รวมถึงมาตรการเยียวยาเกษตรกร เป้าหมาย 10 ล้านราย เเละสนับสนุนให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะง่ายต่อการขายได้ราคา อย่างที่ผ่านมา เอกชน ซีพี แมคโคร ก็พร้อมรับสินค้าเผือกไปจำหน่าย รวมถึงผัก ผลไม้ ที่เริ่มกลับมาดีขึ้นหลังจากช่วงโควิดที่ส่งออกไม่ได้ก็ให้ปรับตัวมีการขายออนไลน์และระบายสินค้าเกษตรให้มากที่สุด”

สำหรับเกษตรในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นั้นเบื้องต้นได้ให้นโยบายว่า การก่อสร้างเมืองใหม่ในอีอีซี นั้นควรดูแลไม่ให้กระทบกับพื้นที่การเกษตร แต่ควรพัฒนาร่วมกันเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรให้เท่ากับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งในภาคตะวันออกนั้นมีสินค้าเกษตรหลายรายการที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างทำแผนโดยมีปลัดเกษตรฯเป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุ 1 ปีเศษของการทำงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ การร่วมมือ 2 กระทรวงภายใต้การบริหารงานของพรรคประชาธิปัตย์ ใช้งบประมาณในการประกันรายได้ 5 พืชเกษตร ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยปีการผลิต 2562/63 มีการประกันรายได้ รวม 56,186.89 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกร 3.51 ล้านครัวเรือน

แบ่งเป็น โดยข้าวประกันรายได้ โดยจ่ายเงิยชดเชย 19,409.24 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกร 1.1 ล้านครัวเรือน,ยางพาราประกันรายได้ โดยจ่ายเงิยชดเชยให้กับชาวสวนยาง คนกรีด วงเงิน 23,256.02 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกร 1.3 ล้านครัวเรือน มันสำปะหลังประกันรายได้ โดยจ่ายเงิยชดเชย 6,836.97 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกร 5.35 แสนครัวเรือน ปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้ โดยจ่ายเงิยชดเชย 6,076.36 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกร 3.73 แสน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกันรายได้ โดยจ่ายเงิยชดเชย 606.30 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกร 2 แสนครัวเรือน

“กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาโครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน คาดว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้าน หากรวมกับปีแรกที่เข้ามาทำงานก็จะใช้งบประมาณของประเทศไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้าน”

นอกจากนี้ ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ปีการผลิต 2563/64 รัฐบาลเริ่มทะยอยนำโครงการประกันรายได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ดังนี้คือ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน วงเงิน 3.3 หมื่นล้านบาทครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีทั้งคนกรัดยางและชาวสวนจำนวน 1.8 ล้านราย,โครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง คาดจะใช้ประมาณ 9.7 พันล้านบาท และโครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงินชดเชยรวม 1,913 ล้านบาท ส่วนปาล์มน้ำมันยังจ่ายเงินชดเชยในรอบปี 2562 ไม่เสร็จ เลยยังไม่ดำเนินโครงการ

ส่วนประกันราคาข้าวภายใต้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 19,826 ล้านบาท และนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์เตรียมเสนอครม.เพิ่มราคาประกันรายได้ เพราะที่ผ่านมา หลังเกิดโควิด 19 ส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับส่วนต่างราคาข้าว เพราะรัฐบาลไม่ได้ชดเชยราคา