เร่งเต็มสูบอุ้ม SME ชายขอบ รอ ‘กฤษฎีกา’ เคาะใช้เงินกู้

สภาพัฒน์-สสว.เร่งดันโครงการฟื้นฟูเอสเอ็มอีชายขอบ 5.5 หมื่นราย ลุ้นกฤษฎีกาไฟเขียวใช้งบเงินกู้ ตั้งกองทุน 5 หมื่นล้าน แก้ปมเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน หนุนสินเชื่อปล่อยกู้เงื่อนไขผ่อนปรน เปิดทางร่วมทุน Venture Capital ลดภาระทางการเงิน โฟกัสภาคเกษตร-อุตสาหกรรม การค้า ท่องเที่ยวและบริการ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายจะช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และไมโครเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือผู้ประกอบการชายขอบ ล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ร่วมกันศึกษาและหาแนวทางออกมาตรการช่วยเหลือ โดยจะดำเนินการในวงเงิน 50,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อเสร็จเรียบร้อยจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด

5 หมื่นล้านช่วย SMEs ชายขอบ

โครงการและมาตรการที่จะจัดทำขึ้นเป็นไปตามนโยบายที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มอบหมายให้ สสว.ทำเรื่องเสนอสภาพัฒน์ขอใช้วงเงินกู้ในส่วนงบฯภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท โดยจะกันวงเงินสำหรับใช้ช่วยเหลือเอสเอ็มอี

กลุ่มชายขอบรวม 50,000 ล้านบาท โดยจะจัดตั้งเป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในลักษณะเปิดกว้างหลายรูปแบบ ซึ่งจะพิจารณาเป็นราย ๆ ตามความเหมาะสมเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสนับสนุนส่งเสริมเอสเอ็มอีนอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ที่หลายหน่วยงานกำลังดำเนินการ

ให้กู้-ร่วมทุน Venture Capital

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือของกองทุนที่จัดตั้งขึ้นจะโฟกัสไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีที่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่มีข้อจำกัดด้านการเงิน มีเงินทุนไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพื่อประคับประคองให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือหลายรูปแบบ หลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อในระยะสั้น ภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนปรน การเปิดโอกาสให้ร่วมทุนในลักษณะ venture capital เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน เมื่อโครงการนี้เปิดดำเนินการผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะได้รับความช่วยเหลือ เพิ่มโอกาสในการอยู่รอด และภาครัฐจะส่งเสริมให้กิจการก้าวหน้า สร้างโอกาสให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจในวันข้างหน้า

แก้ปมเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน

สาเหตุที่ต้องจัดทำโครงการฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินการสำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นเพราะที่ผ่านมาเอสเอ็มอี รวมทั้งไมโครเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ไม่เคยได้รับสินเชื่อและไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารรัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ เมื่อได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด แม้ประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงินจึงไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบได้ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องจัดทำมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้การดำเนินธุรกิจที่หยุดชะงักเดินหน้าต่อ เนื่องจากเอสเอ็มอีถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

กลุ่มเป้าหมาย 5.5 หมื่นราย

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในโครงการนี้มีทั้งหมดประมาณ 55,000 ราย อยู่ในภาคการผลิตและการบริการ กระจายครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน รวมทั้งภาคท่องเที่ยวและบริการ โดยจะเปิดให้สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนสำหรับนำไปก่อตั้ง ปรับปรุง ตลอดจนพัฒนากิจการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ความช่วยเหลือหรือดำเนินการใด ๆ การร่วมกิจการ ร่วมทุน ลงทุนเกี่ยวกับการก่อตั้ง การขยายกิจการ การวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นต้น

ดีเดย์เดือนสิงหาฯนี้

ทั้งนี้ หากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า สสว.สามารถใช้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ได้โดยไม่มีปัญหาข้อกฎหมาย สภาพัฒน์ ในฐานะทำหน้าที่กลั่นกรองโครงการเงินกู้ 400,000 ล้านบาท จะพิจารณาอนุมัติวงเงินสำหรับใช้ในโครงการฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินการสำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยเร็วที่สุด สำหรับกรอบเวลาที่วางไว้ สสว.จะเริ่มเดินหน้าโครงการนี้ภายในเดือนสิงหาคม 2563 ระยะเวลาดำเนินการรวม 7 ปี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน