
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในฤดูแล้ง ปี 2560/61 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำอื่นๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ปีปกติ สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2560/61 ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่อยู่ระหว่างการกำหนดแผนการเพาะปลูก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน มีปริมาณน้ำต้นทุน สามารถสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนฤดูกาลผลิตปี 2561 ได้ ยกเว้นพื้นที่ที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2559/60 ได้
นายสมเกียรติกล่าวว่า ทั้งนี้การใช้น้ำในช่วงแล้งจาก 4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้รวมกัน 10,833 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีน้ำใช้การได้ 9,704 ล้าน ลบ.ม. และยังหวังว่าปริมาณฝนที่ยังมีอยู่ในเดือนตุลาคม จะส่งผลให้มีน้ำลงอ่างมากขึ้น โดย กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ จะมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน
- กูรูตลาดทุน วิเคราะห์วิสัยทัศน์ตัวเต็ง รมว.คลัง “ไม่แย่ แต่ ไม่ใช่”
- ดวงรายสัปดาห์ 28 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2566
- บทสรุปพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2022-23 อันดับ โควตายุโรป ทีมตกชั้น เลื่อนชั้น
นายสมเกียรติกล่าวว่า ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ 1 ตุลาคม 60 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 56,131 ล้าน ลบ.ม. หรือ 75% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,411 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 32,312 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63 % สามารถรองรับน้ำได้อีก 19,087 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,279 ล้าน ลบ.ม. หรือ 69 % ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 2,657 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,583 ล้าน ลบ.ม. หรือ 58% สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 7,592 ล้าน ลบ.ม.
นายสมเกียรติกล่าวว่า สำหรับการรับน้ำเข้าทุ่งต่างๆ จนถึงปัจจุบัน (1 ต.ค. 60) ใน ทั้งพื้นที่ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 298.69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 20% ของปริมาณน้ำที่รับได้ทั้งหมด แยกเป็นพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ส่งน้ำเข้าระบบชลประทานผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ก่อนจะนำน้ำส่วนหนึ่งเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งต่างๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ ขังอยู่ในทุ่งเชียงราก มีปริมาณน้ำรวม 50.38 ล้านลบ.ม. ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก มีปริมาณน้ำรวม 8.19 ล้านลบ.ม. ทุ่งท่าวุ้ง มีปริมาณน้ำรวม 6.15 ล้านลบ.ม. ทุ่งบางกุ่ม มีปริมาณน้ำรวม 32.98 ล้านลบ.ม. ทุ่งบางกุ้ง มีปริมาณน้ำรวม 17.35 ล้านลบ.ม.
นายสมเกียรติกล่าวว่า ส่วนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้มีการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานผ่านประตูระบายน้ำต่างๆ ก่อนจะนำน้ำบางส่วนเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง ที่มีปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ขังอยู่แล้วบางส่วน โดยส่งน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ ลงสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้นจะรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งโพธิ์พระยา มีปริมาณน้ำในทุ่งรวม 15 ล้านลบ.ม. ส่วนปริมาณน้ำที่รับผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุลงสู่แม่น้ำน้อย จะนำไปเก็บไว้ในทุ่งผักไห่ มีปริมาณน้ำรวม 88 ล้านลูกลบ.ม. ทุ่งป่าโมก มีปริมาณน้ำรวม 12 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งเจ้าเจ็ด มีปริมาณน้ำรวม 52.59 ล้าน ลบ.ม.
“กรมชลประทานจะทยอยนำน้ำเข้าไปในทุ่งต่างๆ ที่มีความพร้อมและได้รับการยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ ที่ได้มีการทำประชาคมและมีมติร่วมกันแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในการหมักตอซังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ การเกษตร และการประมง โดยจะควบคุมระดับน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีปริมาณน้ำหลากจำนวนมากไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด” นายสมเกียรติกล่าว
ที่มา : มติชนออนไลน์