ส.ป.ก. เร่งจัดสรรที่ดินเกษตรกร 2.9 ล้านราย รับคนตกงานกลับบ้านทำเกษตร

ส.ป.ก.เร่งจัดที่ดินเกษตรกร 2.9 ล้านราย  36 ล้านไร่ทั่วประเทศ รับวิกฤติแรงงานตกงานย้ายกลับภูมิลำเนาทำเกษตร หนีโควิด ชูโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ต้นแบบพัฒนาอาชีพทำเกษตรอย่างยั่งยืน

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาล ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรจำนวน 2.9 ล้านราย 3.7 ล้านแปลง 36.2 ล้านไร่ และจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 จำนวน 74 พื้นที่ 17 จังหวัด เนื้อที่ 74,679.85  ไร่ โดยคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินเห็นชอบพื้นที่แล้ว 49 พื้นที่ 13 จังหวัด เนื้อที่ 42,167.51 ไร่ พร้อมกับได้มีส่งเสริม และพัฒนาเกษตรกรในด้านต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการผลิตภายใต้ระบบแปลงใหญ่ การผลิตภายใต้ระบบเกษตรอินทรีย์กระบบวนเกษตร การปลูกพืชสมุนไพร

อย่างไรก็ดี เป้าหมายของสปก.เกษตรกรต้องสามารถอยู่ดีในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินนั้น ส.ป.ก.ต้องพัฒนาอาชีพเกษตรกรควบคู่ เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเน้นให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งนี้ การดำเนินงานตามภารกิจทั้งในด้านการจัดที่ดิน การพัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ก็เพื่อมุ่งหวังให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะปัจจุบันวิกฤตโควิด19 ทำให้คนตกงานซึ่งพบว่าแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนาเพื่อไปทำเกษตร ดังนั้น สปก.มองว่าจะเป็นอีกทางเลือกในการใช้พื้นที่เพื่อส่งเสริม และพัฒนาเกษตรกรให้มีรายได้อีกทาง

โดยเกษตรกรสามารถศึกษาจากโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทั่วประเทศ อาทิ ล่าสุด นายเดชา ศรีโกศักดิ์ เกษตรกร ตำบลหนามแดง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในผืนดินพระราชทานพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน โดยส.ป.ก. ได้รับพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรเช่าทำกิน ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 1,2 และ 3 เนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,251 ไร่ ส.ป.ก.ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นผู้ครอบครองเดิมทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรและอยู่อาศัย ปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 267 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2,123 ไร่  โดยศูนย์เรียนรู้ฯ ได้มีการเพาะเลี้ยงหนูพุก เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกตลาดต่างประเทศ มีการเลี้ยงกบคอนโด และทำการเกษตรแบบผสมผสาน อีกทั้งยังมีการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับวิถีการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่คนในชุมชนและบุคคลทั่วไป

โดยการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ คทช. ตำบลเขาซก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี แปลง NO 378 เนื้อที่  569-3-00 ไร่ ซึ่งได้มีการยึดคืนพื้นที่ นำมาจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกร 47 ราย และได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ โดยเกษตรกรสมาชิกส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลัง ทำเกษตรผสมผสาน และเลี้ยงสัตว์

นอกจากนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี ได้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกร เช่น โครงการปลูกไผ่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แปลงพื้นที่ ม.44 No.378 ซึ่งนายเดชา พรมพันธุ์ใจ ได้บุกเบิกพื้นที่ปลูกไผ่ สร้างรายได้ รวมทั้งทำเกษตรผสมผสาน เพื่อเกิดความยั่งยืนของอาชีพในอนาคต

ด้านนายเดชา ศรีโกศักดิ์ หรือ ผู้ใหญ่โทน กล่าวว่า ที่ดินที่ก่อตั้งโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ เป็นที่ดินพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. ตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า และมีการสืบทอดมาตามสายเลือด เพื่อทำนา และพอพ่อ แม่ ทำไม่ไหว ก็ปล่อยที่ดินรกร้างกว่า 30 ปี ถ้าไม่ทำประโยชน์ก็อาจจะถูกยึดที่ดินคืน ตนจึงได้ฟื้นฟูที่ดินพระราชทาน 16 ไร่เศษ มา 10 กว่าปีแล้ว ทำเกษตรผสมผสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกไม้ผลต่างๆ เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว กะท้อน มะม่วง แต่ที่ประสบความสำเร็จคือ การปลูกมะนาว พันธุ์แป้นพิจิตรพันธุ์ทูลเกล้า และทำกิ่งพันธุ์ขาย โดยไม่ใช้สารเคมี

นอกจากนี้ มีการเลี้ยงหนูพุก 400 กระถาง เพื่อจำหน่ายเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และขายเป็น ราคากิโลกรัมละ 150 บาท เช่น ร้านอาหารป่า โดยอายุหนูพุก 2-3 เดือน ก็สามารถขายได้ ช่วยสร้างรายได้เดือนละ 3-4 หมื่นบาท และส่งเสริมอาชีพเลี้ยงหนูพุกให้เกษตรกร โดยลงทุนครั้งเดียว เช่น ซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ 10 คู่ ราคา 8,000 บาท และค่าวัสดุอุปกรณ์ รวมราคาไม่เกิน 1,500 บาท ปัจจุบัน มีสมาชิกเครือข่ายเลี้ยงหนูพุก 30 กว่าฟาร์ม และได้มีทำเอ็มโอยูส่งออกหนูพุกไปยังเวียดนาม แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดชะงัก 

“คนที่อยากทำกินแต่ไม่มีที่ทำกิน คนที่มีที่ดินทำกินแต่ไม่ทำกิน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงตรัสได้ถูกต้องว่า เกษตรกรไม่รวย แต่ไม่อด ได้ตัดสินใจเลี้ยงหนูพุก ทั้งที่ยังไม่มีตลาด เริ่มจาก 60 คู่ ขยายพันธุ์ และขายด้วย เพราะใช่พื้นที่เยอะแค่ 1 งานกว่าๆ ต้นทุนลงทุนครั้งเดียว และตีกินยาว พื้นที่ที่เหลือทำเกษตรผสมผสาน สามารถเก็บกิน และขายได้ ผมต้องการใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วของที่ดินพระราชทาน ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และในอนาคตจะมโครงการปลูกป่า ผมจะไม่ให้ที่ดินว่าง เพราะเรามีที่ทำกิน เราต้องทำกิน”

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้รับข้อร้องเรียนจากกลุ่มสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาค นำโดย นายฉลอง แสงราษฎร์เมฆินทร์ ที่ปรึกษาเครือข่าย พร้อมคณะตัวแทนสมาชิก ซึ่งปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณด้านหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน้า ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก โดยสภาประชาชน 4 ภาค ขอให้ ส.ป.ก. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ที่จัดสรรให้แก่สมาชิกเครือข่าย จ.เพชรบุรี พร้อมเร่งรัดการพิจารณาจัดที่ดินให้แก่สมาชิกเครือข่ายที่ต้องการที่ดินทำกินเพิ่มเติม

พร้อมทั้งรับฟังการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรจำนวน 2.9 ล้านราย 3.7 ล้านแปลง 36.2 ล้านไร่ และจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้จัดสรรไปแล้ว จำนวน 74 พื้นที่ 17 จังหวัด เนื้อที่ 74,679.85  ไร่ โดยคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินเห็นชอบพื้นที่แล้ว 49 พื้นที่ 13 จังหวัด เนื้อที่ 42,167.51 ไร่ และที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา