ปั้น”1จังหวัด1สตาร์ตอัพ” KPIวัดฝีมืออุตสาหกรรม

“กอบชัย” สั่งอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด ปั้น “1 จังหวัด 1 startup” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด จ่อตั้งเป็น KPI วัดผลงาน “อินโนสเปซ” โดดหนุนเงินลงทุน ผุดหุ้นกู้แปลงสภาพ หวังสภาพคล่อง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังได้มอบนโยบายให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดปรับแนวทางการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยให้มุ่งสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ (startup) ขึ้นมา เป้าหมาย 1 จังหวัด 1 วิสาหกิจ (one province one startup) โดยผลการดำเนินงานนี้จะเป็นตัววัดประเมินผลการดำเนินงาน (KPI) อุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งเมื่อสำเร็จในระดับต้นแล้ว จากนั้นให้ร่วมกันสนับสนุนและพัฒนา startup ไปสู่ระดับยูนิคอร์น unicorn ซึ่งหมายถึงธุรกิจสตาร์ตอัพนั้นจะต้องมีมูลค่ายอดขายปีละ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

“เราต้องให้ลีดแต่ละภูมิภาคเป็นตัวหลักในการทำงาน เพราะอยู่ในพื้นที่เขาจะรู้ในการช่วยและพัฒนา SMEs ที่เราต้องปั้น startup ต้องสร้างเขาขึ้นมาเพราะเขาจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ สร้างรายได้และอยู่รอดได้ในอนาคต เพราะผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบผู้ประกอบการและ SMEs อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถทำกิจการต่อไปได้ ในส่วนของกระทรวง ไม่เพียงได้ออกมาตรการทางการเงินอย่างกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กองทุน 20,000 ล้านบาท) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน แต่ยังมีมาตรการจำนองเครื่องจักรแปลงเป็นสินทรัพย์เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเริ่มดำเนินการภายในเดือน ส.ค.นี้”

ขณะเดียวกัน KPI ในด้านอื่นๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำมาใช้วัดการทำงานของอุตสาหกรรมจังหวัด อีกตัวหนึ่ง คือ อุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณอ้อยไฟใหม้ลงให้ได้ตามเป้าหมาย 3 ปี โดยฤดูการผลิตปี 2563/2564 จะต้องมีสัดส่วนอ้อยสดและไฟใหม้อยู่ที่ 80:20 ให้ได้

นายต่อตระกูล วัฒนวรกิจกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนสเปซ(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้หนักมาก ส่งผลกระทบผู้ประกอบการรายเล็กที่มีสายป่านสั้น บริษัทจะสนับสนุนเงินทุนให้ startup โดยเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เริ่มระดมทุนหุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible debenture) ซึ่งเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่จากกองทุน Inno Bridge Fund วงเงินมูลค่า 50 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเรื่องกระแสเงินสด เสริมสภาพคล่องให้ startup สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ท่ามกลางภาวะวิกฤตครั้งนี้ที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไร และยังมีเป้าหมายผลักดันให้เข้าสู่ ตลท. และเชื่อมกับต่างประเทศได้ เพื่อหวังให้ต่อไปไทยสร้าง startup ให้เป็นเหมือนซิลิคอนวัลเลย์

ด้านนายอุกฤษ อุณหเลขกะ CEO บริษัท รีคัลท์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเป็นบริษัท startup ที่เคยทำงานในซิลิคอนวัลเลย์ และเข้ามาเริ่มต้นการเป็น startup เพราะต้องการแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่มีสัดส่วนจำนวนมากในประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การมีผลผลิตที่ดีขึ้น ทำให้เข้าถึงสินเชื่อแหล่งทุนเพื่อขยายการเพาะปลูกได้ โดยรีคัลท์จึงพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้นมาให้กับเกษตรกรใช้ฟรี ในการให้ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ใช้ระบบดาวเทียมที่จะชี้แปลงเพาะปลูกว่าพื้นที่มีศักยภาพหรือไม่ ต้องวางแผนด้านการเพาะปลูกอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากที่สุด การซื้อขายผลผลิตโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับโรงงาน ที่จะเข้ามาช่วยให้รู้ว่าจะซื้อผลผลิตที่ไหน มีผลผลิตเท่าไร ผลผลิตออกช่วงไหน เป็นต้น เช่น การซื้ออ้อยจากชาวไร่กับโรงงานน้ำตาล โรงงานจะรู้ว่า เกษตรกรที่ปล่อยเกี๊ยวอ้อยออกไปมีเท่าไร ปริมาณเท่าไร ปลูกเมื่อไร ประเมินผลผลิตได้และจะเพียงพอในการเข้าหีบหรือไม่ เพื่อเป็นการลดต้นทุนจัดการการรับซื้อได้ เช่นเดียวกับอ้อยไฟไหม้จะมีดาวเทียมจับว่าอ้อยที่ขนส่งมานี้เข้าหีบเผาจากไร่ไหน

ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลเบอร์ 2 และเบอร์ 3ของประเทศใช้ระบบของบริษัท ทำระบบการซื้ออ้อยกับชาวไร่กว่า 40,000-50,000 ราย มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า startup เป็น business model ใหม่ที่เป็นผู้ให้บริการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในอนาคต แต่ที่ผ่านมา startup อาจมีอุปสรรคจากที่ไม่มีออฟฟิศและโรงงานเป็นของตัวเอง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ บวกกับผลกระทบจากโควิด-19ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง แนวทางที่จะช่วยให้ startup อยู่รอดได้ไม่เพียงต้องแก้ปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน ต้องหาสินค้าใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยลดอุปสรรค เช่น เรื่องระบบที่ไม่เชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ในส่วนของตลท.ก็ช่วยให้สตาร์ตอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการเปิดกระดานหุ้นใหม่ชื่อ Live Platform ซึ่งจะเป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดรอง