อรมน ทรัพย์ทวีธรรม มองข้ามชอต FTA-โฟกัสจุดแข็งประเทศ

สัมภาษณ์พิเศษ

ปมการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทยยังไม่มีทีท่าจะได้ข้อสรุป ขณะที่ “สหรัฐอเมริกา” ประเทศหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญของ CPTPP ก็กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้

อนาคตการเมืองของผู้นำ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกันจะได้ไปต่อหรือจะเป็น “โจ ไบเดน” อดีตรองประธานาธิบดีรัฐบาลบารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครต ล้วนแต่มีผลเชื่อมโยงกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่อาจจะส่งผลต่อ CPTPP “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(จร.) กระทรวงพาณิชย์ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ตลอดจนการเตรียมพร้อมของไทย

ความแตกต่าง 2 พรรค

พรรครีพับลิกัน (โดนัล ทรัมป์) ยึดนโยบาย American First ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขาดดุลการค้า โดยมีการใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น มาตรา 232 กับสินค้านำเข้าจากจีน หากชนะการเลือกตั้งเชื่อว่าพรรคจะยึดนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการสร้างอุตสาหกรรมภายใน การจ้างงาน ถ้ามีการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ก็ต้องเป็นเอฟทีเอกับประเทศที่้เขาเลือก ซึ่งจะเน้นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือ NAFTA แต่ไม่เน้นให้ความสำคัญกับองค์การการค้าโลก (WTO) องค์การอนามัยโลก (WHO) เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะบริหารหรือควบคุมได้ แต่หากเป็นไบเดนทิศทางการดำเนินนโยบายพรรคเดโมแครตน่าจะยึดตามนโยบายเดิมในสมัยประธานาธิบดีโอบามาเคยดำเนินการไว้ โดยเฉพาะเรื่องการทำความตกลง FTA แต่แน่นอนว่าสหรัฐให้ความคาดหวังกับเอฟทีเอที่มีการสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นมาตรฐานการเจรจาที่สหรัฐได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม

โอกาสสหรัฐหวนกลับเข้า CPTPP

หลังจากการเลือกตั้งคาดว่ากระบวนการภายในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและเริ่มบริหารประเทศได้ น่าจะเป็นช่วงต้นปี 2564 หากถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สหรัฐจะหวนกลับสู่การเจรจา CPTPP มองว่าเป็นไปได้ทั้งหมด เพราะความตกลง CPTPP เป็นเรื่องที่เดโมแครตริเริ่มไว้ตั้งแต่ตอนแรก (สมัยที่เป็น TPP)

แต่ในความตกลง CPTPP ปัจจุบันได้แขวนประเด็นที่สหรัฐเคยเสนอไว้ก่อนนี้ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การกลับเข้ามาครั้งนี้ “สหรัฐจะเป็นคนนอกสำหรับ CPTPP” คงต้องเจรจากับสมาชิก CPTPP ก่อน ก็ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิก CPTPP ว่าจะให้ความสำคัญกับสหรัฐแค่ไหน สมาชิกอาจมองว่าสหรัฐเป็นเหมือนแม็กเนตดึงดูดความน่าสนใจให้กับ CPTPP เพิ่มขึ้นก็ได้ แต่อีกด้านการเจรจากับสหรัฐถือว่าเป็นเรื่องยากและมีความท้าทายมาก

การเตรียมพร้อม CPTPP ของไทย

ในส่วนของประเทศไทยคงต้องพิจารณาให้รอบคอบในหลายเรื่อง ซึ่งทางคณะกรรมาธิการวิสามัญ CPTPP สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาให้คำแนะนำและเสนอแนะทางออกต่อเรื่องต่าง ๆ ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ตอนนี้การศึกษามีความคืบหน้าไปพอสมควรแล้วแต่ก็คงสรุปไม่ทันการสมัครเข้าร่วม CPTPP Commission รอบสิงหาคมนี้

ต่อคำถามที่ว่า 1 ปีที่ล่าช้าไทยจะเสียโอกาสอะไร ก็คงต้องดูว่าสมาชิก CPTPP มีแต้มต่ออะไรที่ได้ประโยชน์กับไทยบ้าง เป็นตัวอย่างที่ช่วยทำให้กรณีที่เราได้เริ่มเจรจาจะไปได้เร็วขึ้น เพราะบางประเด็นก็มีตัวอย่างให้เห็นในความตกลงเอฟทีเอของคู่อื่น เช่น เอฟทีเออียู-เวียดนาม เอฟทีเออียู-สิงคโปร์ เป็นต้น

“สิ่งสำคัญคือผลการศึกษาของ กมธ. CPTPP ครั้งนี้จะมีคำแนะนำข้อเสนอแนะว่ามีประเด็นใดบ้างที่เป็นปัญหา ควรมีทางออกอย่างไร เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม เป็นแนวทางหรืออาจเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการนำไปใช้ในอนาคต เพราะไม่ว่าไทยจะเจรจา FTA กับประเทศใดก็ต้องหาทางออกเรื่องเหล่านี้ เพราะท้ายสุดประเด็นเหล่านี้จะวนกลับมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง UPOV แรงงาน สิ่งแวดล้อม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญทั้งสิ้น”

การเข้าก่อน-หลังสหรัฐมีผลอย่างไร

แน่นอนว่าถ้าไม่มีสหรัฐ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าสหรัฐเข้า CPTPP ก่อนก็จะมีการเจรจาสมาชิก ขึ้นอยู่กับ CPTPP ด้วยว่าจะตอบสนองสิ่งที่สหรัฐเรียกร้องหรือไม่ อย่างไร การมีสหรัฐเข้าก่อนก็อาจทำให้ขนาดตลาด CPTPP ใหญ่ขึ้น แลกกับการเจรจาก็ยากและท้าทายยิ่งขึ้นเช่นกัน

แต่มีบางส่วนที่เสนอว่าควร noCPTPP เลย เพราะไทยมีเอฟทีเอกับบางประเทศอยู่ แต่เราก็บอกว่ามันมีข้อแตกต่างกันอยู่ เช่น เอฟทีเอกับญี่ปุ่นหรือเปรูก็มีแต่เราไม่ได้ประโยชน์ 100% หรือเราอาจไม่ต้องเจรจากับแคนาดาและเม็กซิโก ความยากอยู่ที่การบาลานซ์ผลประโยชน์อย่างไรให้ประเทศได้สูงสุด

มองข้าม FTA สู่ Position ประเทศ

“เราอยากให้ประเทศไทยมองว่าไทยอยากเป็นอะไรในอนาคต เช่น อยากเป็นฮับอาหารโลกแล้วจะสร้างห่วงโซ่มูลค่าตัวเองอย่างไร เพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย position นั้น เรายังต้องพัฒนาอะไร ไม่พร้อมตรงไหน อาจมองข้ามคำว่า FTA ไปเลยแต่ให้มองว่าเราอยากเป็นอย่างไร แล้วก็ทำให้สอดคล้องกับสิ่งนั้น”

ในระหว่างนี้เราต้องเตรียมพร้อมกับประเทศที่ยังไม่มีความตกลง FTA ด้วย จากข้อมูลพบว่าประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอคิดเป็นสัดส่วน 62% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 40% ที่ไม่มีเอฟทีเอเป็นการค้ากับสหรัฐมากที่สุด รองลงมาคือ อียู และอังกฤษ เราก็เห็นโอกาสการเจรจาและได้มอบให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ศึกษาความเป็นไปได้ในเอฟทีเอไทย-อียู คาดว่าจะสรุปได้ในเดือนกันยายนนี้ และจะนำมาเผยแพร่ต่อไป

เตรียมรับฟังความเห็น “กองทุนFTA” ครั้งแรก

ส่วนการเยียวยาผลกระทบจากเอฟทีเอ เดิมมีโครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าที่กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เป็นเจ้าภาพ หลายคนเข้าใจผิดว่าโครงการเป็นกองทุนเอฟทีเอ แต่ไม่ใช่ นี่เป็นโครงการที่ต้องเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายปีซึ่งอาจจะได้รับงบฯไม่มากนัก และให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น อบรม การให้คำปรึกษา ทางท่านรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) จึงสั่งการให้ตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลแนวทางการพัฒนาเป็นกองทุนเอฟทีเอให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ของกระทรวงการคลัง โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน กรมเป็นฝ่ายเลขาฯ


ตอนนี้เตรียมจัดประชุมรับฟังความเห็นในรูปแบบออนไลน์ขึ้นในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้เป็นครั้งแรก อาจนำไปสู่การยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเอฟทีเอรวมโครงการเยียวยาเข้ามา โดยคต.ยังเป็นเจ้าภาพ แต่ต้องวางแนวทางเรื่องแหล่งที่มารายได้อื่นนอกจากงบประมาณ การบริหารจัดการกองทุน เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น