ปรียนาถ สุนทรวาทะ ปั้น บี.กริม เพาเวอร์ เบอร์ 1 พลังงานทดแทน

เป็นเวลาเพียง 3 ปีหลังจากที่บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยราคาพาร์หุ้นละ 17 บาท จนถึงวันนี้ บี.กริม เพาเวอร์ เติบโตอย่างก้าวกระโดด ราคาหุ้นล่าสุด ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 50.50 บาท พร้อมกับการเติบโตจากธุรกิจ

โรงไฟฟ้าด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นจาก 1,626 เมกะวัตต์ (MW) เป็น 3,547 MW ในปัจจุบัน และอาจเติบโตทะลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ 5,000 MW ภายในปี 2565 การขยายตัวที่น่าทึ่งของ บี.กริม เพาเวอร์ เกิดจากการบริหารของ “นางปรียนาถ สุนทรวาทะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ตั้งเป้าหมายจะทำให้ บี.กริม เพาเวอร์ เป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานทดแทนอันดับหนึ่งของอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้

การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง

บี.กริม เพาเวอร์ เตรียมการพร้อมเรื่องเม็ดเงินที่จะใช้ในการลงทุนด้วยการถือครองเงินสด ประมาณ 20,000 ล้านบาท และยังมี “เครดิต” จากสถาบันการเงินให้เพิ่มอีก 9,000 ล้านบาท และอีก 5,000 ล้านบาท จะมาจากการขายหุ้นกรีนบอนด์ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้เงินในส่วนนี้ ดังนั้น แนวโน้มครึ่งปีหลัง เราจะลงทุนใหม่ ๆ แน่นอน เพราะเราต้องเริ่มสร้าง โรงไฟฟ้า 7 โรง พร้อม ๆ กันเลยใน SPP replacement มีโรงไฟฟ้าอ่างทองอีก 2 แห่ง แห่งละ 140 MW และเรายังได้ใบอนุญาต shipperlicence LNG เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ รายที่ 5 จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ ๆ และยังมีโครงการเจรจาซื้อขายและรวมกิจการ (M&A) อีกหลายโครงการ

ผลิตไฟเกินเป้า 5,000 MW

ถ้าจะนับจากที่ บี.กริม เพาเวอร์ เริ่มเข้าตลาดเมื่อ 3 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เรามีการโอเปอเรชั่นกำลังผลิตไฟฟ้าที่ 3,019 MW และในพอร์ตที่กำลังก่อสร้าง 3,547 MW ยังไม่รวมโครงการที่กำลังเจรจา M&A และโปรเจ็กต์โรงไฟฟ้า LNG ที่เวียดนามใต้ ที่กำลังเจรจาอยู่ เรียกว่าใกล้จะจบแล้วอีก 3,000 MW ไม่รวมโครงการกับเกาหลีและอู่ตะเภาอีก 95 MW

ฉะนั้นจริง ๆ แล้ว เป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าที่ 5,000 MW ในปี 2565 มันเกินอยู่แล้ว แต่ที่เรายังไม่ขยับเป้าหมายก็เพราะ บี.กริมฯ ถือว่าถ้ายังไม่ได้เซ็นสัญญาเรียบร้อยก็ยังไม่อยากนับรวมกำลังผลิตใหม่เข้าไป แต่โอกาสมีอีกเยอะเลย เชื่อว่าปี 2565 บี.กริมฯจะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมน่าจะเกินกว่า 5,000 MW แน่นอน

โตแบบ บี.กริม เพาเวอร์

ในช่วงที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ เริ่มต้นมาจากการขอใบอนุญาต 14 โรง และเข้าเทกโอเวอร์โรงไฟฟ้าที่แหลมฉบัง 2 โรง และที่โกลว์อีก 2 โรง มาบตาพุด 2 โรง ล่าสุดเราเพิ่งเข้าไปเทกโรงไฟฟ้าอ่างทอง วิธีการเทกโอเวอร์ช่วงหลังนี้ช่วยให้ บี.กริม เพาเวอร์ สามารถเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้ามาได้อย่างรวดเร็ว ข้อดียิ่งกว่านี้ก็คือสามารถเทิร์นทำกำไรสูงขึ้นได้ ตอนนี้ต้องพูดว่าวิธีเทกโรงไฟฟ้าแบบนี้สามารถทำได้ง่ายกว่าการขอใบอนุญาต (licence) เพราะใบอนุญาตมีจำกัด สำหรับประเทศไทยการจะขออนุญาตใหม่ทำได้ยากมาก เพราะกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ “ล้นเกิน” มันโอเวอร์ซัพพลายขนาดหนัก

แต่กำลังผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินนี้มันไม่ได้ล้นทั่วประเทศ แต่ล้นเฉพาะตะวันออก ส่วนภาคใต้ไฟฟ้ายังขาด สายส่งไม่เต็มที่ ฉะนั้นยังมีจุดที่เราสามารถเข้าไปเติมเต็มได้ ถ้าไม่ใช่โรงไฟฟ้าถ่านหินก็สามารถทำได้ บี.กริมฯมองว่าอนาคตโรงไฟฟ้า LNG และพลังงานสะอาด จะเข้ามามีบทบาทเยอะ ซึ่งเราทำแล้ว เช่น โครงการทำโซลาร์ลอยน้ำกับ กฟผ.

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีนี้ประเทศไทยอาจจะไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้ามาในระบบ จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าหลายรายต้องหันไปลงทุนต่างประเทศ แต่ บี.กริมฯมองว่า การที่เราได้ใบอนุญาตนำเข้า LNG เพื่อผลิตใช้เอง แต่ให้เราทำโรงไฟฟ้าไฮบริดที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เช่น สมาร์ทกริด สมาร์ทซิตี้ ตรงนี้สามารถทำภายในประเทศได้ เช่น โครงการหนึ่งอาจจะมีโรงไฟฟ้า 2-3 ประเภท และมีระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) เข้ามาเสริม เพื่อให้ไม่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าใหญ่ที่ต้องส่งมาทางไกล โครงการลักษณะนี้ เช่น อู่ตะเภา อาจจะเป็นสมาร์ทกริดได้ 95 MW เป็นโซลาร์ 15 MW เป็นโคเจน 85 MW บวกกับ energy storage 50 MW

เปลี่ยนสัดส่วนรายได้ของบริษัท

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้า LNG ในนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไป ไม่จำเป็นต้องขายไฟฟ้าให้ กฟผ. หลายโรงงานในนิคมมีการใช้ไฟมโหฬาร ตลอด 24 ชม. 30-50 MW เช่น พวกโรงงานปิโตรเคมี ยิ่งเราได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้า

ก๊าซ LNG ปีละ 650,000 ตัน เป็นเวลา 10 ปีนับจากวันนี้ ทำให้เราสามารถลดต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าได้ถูกลงกว่าการที่เราต้องซื้อ LNG จากคนอื่น ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ทั้งประเทศเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซถึง 70% ฉะนั้นเมื่อราคาก๊าซถูกลง ค่าไฟฟ้าก็ถูกลงโดยอัตโนมัติ ช่วยให้โรงงานไม่หนีไปเวียดนาม ที่ปัจจุบันค่าไฟแค่ 2 บาทต้น ๆ เท่านั้น

ในอนาคตโครงสร้างรายได้ของ บี.กริม เพาเวอร์ จะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันที่เราขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.และ กฟน. ถึง 70% หากรัฐบาลสนับสนุนให้มีการนำเข้าก๊าซได้เสรีจริง จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นอย่างมาก ทำให้สัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมซึ่งปัจจุบันมี 30% เพิ่มมากขึ้น

โควิดระลอก 2

บี.กริม เพาเวอร์ไม่กังวลเรื่องโควิดรอบ 2 เพราะลูกค้าสัดส่วน 70% เป็นการขายไฟให้กับรัฐ (กฟผ.-กฟน.) มันเป็น must run อยู่แล้ว คือถึงอย่างไรต้องซื้อไฟฟ้าจากเรา ซึ่งเป็นข้อดีของโรงไฟฟ้า SPP และเนื่องจากเราเป็นโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมที่มีลูกค้าเยอะมาก ทั้งนิคมอมตะซิตี้ มาบตาพุด แหลมฉบัง มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ประกอบกับ

ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด ทางบริษัทได้เร่งหาลูกค้ารายใหม่ ๆ ตุนไว้ เช่น ลูกค้าที่ผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้ไฮเทคโนโลยีที่ต้องการไฟฟ้าที่มีศักยภาพมากกว่าเดิม หรือผู้ผลิตพลาสติกแพ็กเกจจิ้งทั้งหมด ยอดซื้อไฟพุ่งเป็น 20% มันเลยสวนกระแส ขณะที่รถยนต์และชิ้นส่วนลดลง

ดังนั้นยอดรายได้ของ บี.กริม เพาเวอร์ ในไตรมาส 1-2 แทบไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทั้งปียังเชื่อว่า บี.กริม เพาเวอร์ จะมีผลการดำเนินงานดีกว่าปีก่อนระหว่าง 10-15%