ผวาโควิดลามอาหารแช่แข็ง “ซีพี-ทียู” ตรวจเข้มทุกขั้นตอน

หวั่นโควิดลามอาหารแช่เยือกแข็งนำเข้า หลัง “นพ.ยง” ออกโรงเตือนเผยครึ่งปีแรกนำเข้าพุ่ง 4 หมื่นล้าน จากจีนมากสุด สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งฯ ยันข้อมูลการติดเชื้อเกิดจากภาชนะใส่อาหาร ย้ำไทยไม่ได้นำเข้าจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ด้าน “ไทยยูเนี่ยน-ซีพีเอฟ” มั่นใจความปลอดภัย

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน มีความเกี่ยวข้องกับตลาด ตั้งแต่ที่อู่ฮั่น ปักกิ่ง ต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง โดยการระบาดในเมือง

อู่ฮั่น เป็นตลาดค้าของสด อาหารทะเล และสัตว์มีชีวิต ส่วนการระบาดที่ปักกิ่ง มีการพบเชื้อที่เขียงปลาแซลมอนนำเข้าจากเดนมาร์กที่ตลาดซินฟาตี้ ขณะที่ตลาดในต้าเหลียน พบเชื้อโควิดในกุ้งที่ส่งมาจากเอกวาดอร์ ทำให้ทางการจีนต้องระดมตรวจเชิงรุกทั้งสิ่งแวดล้อมและประชากรเป็นแสนคนเพื่อป้องกันการระบาด

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่เยือกแข็งแปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป จากข้อมูลกรมศุลกากรระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 39,821 ล้านบาท ลดลง 22.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยนำเข้าจากจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่ง สัดส่วน 10.54% มีมูลค่าการนำเข้า 4,197 ล้านบาท หรือลดลง 16.7% มีผู้นำเข้ารายสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์, บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม, บริษัท โกลเด้นท์ไพร้ซ์ แคนนิ่ง, บริษัท สยามแม็คโคร, บริษัท โชควิวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต, บริษัท ยูนิคอร์ด, บริษัท อาร์ เอส แคนเนอรี่, บริษัท เอ็ม เอ็ม พี อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัท พัทยาฟู้ดอินดัสตรี และบริษัท บุญศิริโฟรเซ่น โปรดักส์

ติดเชื้อที่บรรจุภัณฑ์

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวถึงความกังวลเรื่องอาหารแช่เยือกแข็งปนเปื้อนโควิด-19 ว่า สมาคมขอยืนยันไม่มีส่วนไหนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือการ

ส่งออกของประเทศไทย และจากที่ได้รับรายงานพบว่า การติดเชื้อโควิด เป็นการติดเชื้อในภาชนะที่ใส่สินค้าหรือกล่อง โดยไม่เกี่ยวข้องกับตัววัตถุดิบ เช่น กุ้งหรือปลาแซลมอน และสินค้ากลุ่มนี้ประเทศไทยไม่ได้มีการนำเข้าจากอินโดนีเซีย จีน และอินเดียแต่อย่างใด โดยเฉพาะเอกวาดอร์ ซึ่งไกลและมีต้นทุนสูง

“สมาคมร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกทูน่า-กรมประมง จัดทำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มสินค้าของอาหารแช่เยือกแข็ง ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าสินค้าแช่เยือกแข็งและทูน่าของประเทศไทย ได้ว่า ไม่มีเชื้อติดในสินค้าของประเทศไทย”

TU ขออย่า Panic

ด้านนายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็ง บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)กล่าวว่า บริษัทมีการนำเข้าสินค้าแช่แข็งจากจีนบางรายการ เช่น แซลมอนและกุ้งล็อบสเตอร์ “แต่มีสัดส่วนไม่มากนัก” โดยการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ต้องดำเนินการตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยสุขอนามัยต่าง ๆ อาทิ การตรวจสอบโรงงานของกรมประมง กระทรวงสาธารณสุข การตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการนำเข้าที่ทุกบริษัทต้องปฏิบัติ จึงมั่นใจได้ว่า สินค้าที่จำหน่ายมีความปลอดภัยอยู่แล้ว และเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค TU ได้ประสานกับคู่ค้าเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นแล้ว

“ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ขอให้มั่นใจว่า ไทยมีมาตรฐานการตรวจสอบการผลิต การนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าจากทั่วโลกอย่างรัดกุมตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งการนำเข้าปิดกั้นไม่ได้ ที่สำคัญคือต้องระมัดระวังแต่ไม่แพนิก เราไม่สามารถจะไปกล่าวหาว่าสินค้าจากประเทศใดไม่มีความปลอดภัยหรือใช้มาตรการนำเข้ากับสินค้าเหล่านั้นได้ หากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน เพราะประเด็นทางการค้านี้อาจจะกระทบต่อสินค้าอื่น ๆ”

CPF ถอดบทเรียนจีน

จากการสอบถามไปยัง บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้รับคำตอบว่า ผลกระทบจากโควิด-19 บริษัทได้ยกระดับมาตรการการป้องกันโรค ความปลอดภัยด้านอาหาร ตลอดห่วงโซ่ พร้อมดูแลสุขอนามัยทั้งของพนักงานและโรงงานอย่างเคร่งครัด สอดคล้องกับแนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และยังได้ศึกษาและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน พร้อมทั้งปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการความปลอดภัยได้อย่างเหมาะสมตามมาตรฐานสากล