จับตา โรงไฟฟ้าชุมชน ฝุ่นตลบ “จบ” หรือ “ไปต่อ”

โรงไฟฟ้าชุมชน-

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นนโยบายของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานคนก่อน ยังคงเป็นที่สนใจและถูกจับจ้องจากกลุ่มผู้ประกอบการไฟฟ้าภายในประเทศ ทั้งกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP), กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ในข้อที่ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่  นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตผู้บริหารในกลุ่มบริษัท ปตท. จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มพลังงานทดแทนที่ต้องการให้ดำเนินโครงการนี้ต่อไป

นายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังการทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้สนับสนุนผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ผู้พัฒนาโครงการและวิสาหกิจชุมชนเกิดความไม่มั่นใจในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน หลังจากเกิด “เค้าลาง” ในปลายสมัยของ รมต.สนธิรัตน์ ไม่สามารถผลักดันโครงการให้บรรจุอยู่ในวาระเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ ทั้ง ๆ ที่โครงการได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานไปแล้ว

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและถูกรับรู้กันไปทั่วในหมู่เกษตรกรที่พร้อมจะปลูกพืชพลังงานทดแทนเพื่อขายให้กับโรงไฟฟ้าชุมชน ประกอบกับวิสาหกิจชุมชนที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ก็จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้า อันเป็นการเพิ่มรายได้ให้ทั้งเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น สมาคมอยากให้โครงการมีความต่อเนื่อง จึงขอวิงวอนนายกรัฐมนตรีให้ยึดมั่นและผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเริ่มต้นโครงการอย่างมีระเบียบหลักเกณฑ์ที่รัดกุมให้ได้พิจารณาผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป” นายผจญกล่าว

ขอพบ รมว.พลังงาน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้วก็ตาม นายผจญกล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่สมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทยเป็น 1 ใน 8 สมาคมที่อยู่ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมที่จะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ทันทีที่เป็นไปได้ เพื่อ “เรียน” ข้อเท็จจริงให้ท่าน รมต.ทราบถึงความสำคัญของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

ในขณะนี้ภาคเอกชนซึ่งเป็นแกนสำคัญในการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ได้ขับเคลื่อนนโยบายนี้ไปแล้ว จึงอยากให้โครงการมีความต่อเนื่องผ่านการพิจารณาของ ครม. เพื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

“ตอนนี้ภาคเอกชนทั้งผู้ประกอบการไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ IPP และผู้ประกอบการรายเล็ก SPP ได้เริ่มต้นร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน ตั้งบริษัทขึ้นมารองรับโครงการนี้แล้วเป็นจำนวนมาก ภายใต้การแข่งขันที่เป็นธรรมจากการวางหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เราก็หวังที่จะให้รัฐมนตรีท่านใหม่มาสานต่อ สร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลที่จะกระจายรายได้ผ่านไปยังท้องถิ่น ทั้งการขายพืชพลังงานและส่วนแบ่งจากการจำหน่ายไฟฟ้า” นายผจญกล่าว

แผน PDP-LNG

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือ energy for all ที่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานได้ปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นร่างแผน PDP 2018 Rev.1 กำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากกลุ่มโรงไฟฟ้าชุมชน (ชีวมวล)-ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย)-ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)-solar hybrid ให้เข้าระบบตั้งแต่ปี 2563-2567 รวม 1,933 เมกะวัตต์ (MW) โดยจำนวนรับซื้อไฟฟ้าใหม่นี้ได้ถูกตัดมาจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW ที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากอัตราการรับซื้อไฟฟ้าโครงการ “ถูกเกินกว่าที่จะจูงใจให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์”

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนหลายราย ต่างจับตานโยบายด้านพลังงานของ รมว.พลังงานท่านใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยเพียงใดใน 2 เรื่องสำคัญคือ

1) แผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ กับ 2) การจัดหาก๊าซ LNG เนื่องจากโรงไฟฟ้าชุมชน ถูกบรรจุไว้ในร่างแผน PDP 2018 Rev.1 แล้ว แต่ตัวแผนยังไม่ผ่านการพิจารณาของ ครม. ประกอบกับในช่วงปลายสมัยของนายสนธิรัตน์ เป็นที่ทราบกันดีว่า มีบางกระทรวงเตรียมเสนอ “ไม่เห็นด้วย” กับโครงการนี้ จนเกิดความกังวลกันว่าการนำโครงการกลับมาพิจารณาใหม่ “อาจจะ” มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชุมชน สัดส่วนระหว่างภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชน จนทำให้มีผู้ประกอบการบางกลุ่มเตรียมตั้งบริษัทเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

ส่วนเรื่องสำคัญเรื่องที่สองก็คือ การจัดหาก๊าซ LNG จากปัจจุบันมีผู้ได้รับ “ใบอนุญาต” ให้นำเข้าเพียง 5 ราย โดย ปตท.เป็น 1 ในผู้นำเข้ารายใหญ่สุด โดยก๊าซ LNG ส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าทั้งของเอกชนและ กฟผ. ท่ามกลางปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่ล้นเกินขนาดหนัก โดยประเด็นนี้อาจมีผลต่อการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าชุมชนในอนาคต


ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจกลุ่มผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ที่ก่อตั้งบริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนหรือบริษัทพลังงานชุมชน อาทิ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ประมาณ 155 บริษัท, บริษัทในกลุ่มของบริษัท บีเอ็มซี เอ็นเนอร์ยี จำนวน 14 บริษัท อาทิ บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนยะลา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบริษัทไฟฟ้าเพื่อชุมชนยั่งยืนอีกประมาณ 20 บริษัท และกลุ่มบริษัทพลังงานชุมชนประมาณ 17 บริษัท โดยมีข้อสังเกตว่า บริษัทเหล่านี้เพิ่งจดทะเบียนตั้งบริษัทในช่วงไตรมาส 1-2/2563 ทุนจดทะเบียนประมาณ 100,000-500,000 บาทเท่านั้น