เอฟทีเอ หนุนส่งออกอาหาร-เกษตรแปรรูปตลาดอาเซียนครึ่งปี’63 ทะลุ 3 พันล้าน

พาณิชย์ เผยอาเซียนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปเบอร์ 1 ของไทย ทำยอดส่งออกครึ่งปีแรก มูลค่าถึง 3,341.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ชี้! เอฟทีเอช่วยปลดล็อกข้อจำกัดทางการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.63) พบว่า ไทยส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปอาเซียน มูลค่า 3,341.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 และอาเซียนยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วน 37% ของการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งหมด โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเติบโตขึ้น เช่น น้ำตาล มูลค่า 907 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1% ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป มูลค่า 325 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8% นมและผลิตภัณฑ์นมแปรรูป มูลค่า 244 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8% อาหารสัตว์เลี้ยง มูลค่า 222 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11% และสิ่งปรุงรสอาหาร มูลค่า 129 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11% เป็นต้น โดยประเทศสมาชิกอาเซียนที่การส่งอออกขยายตัวได้ดี เช่น เวียดนาม ขยายตัว 34% สิงคโปร์ ขยายตัว 25% ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 22% บรูไน ขยายตัว 21% และกัมพูชา ขยายตัว 3% เป็นต้น

ความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สินค้าเกษตรแปรรูปของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง และเป็นที่ต้องการในตลาดอาเซียน เนื่องจากช่วยปลดล็อกข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะกำแพงภาษีศุลกากร ส่งผลให้สินค้าเกษตรแปรรูปของไทยเกือบทุกรายการสินค้า ที่ส่งออกไปยังสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ยกเว้นอินโดนีเซีย ที่เก็บภาษีนำเข้าน้ำตาล 5-10% ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปของไทยไปอาเซียนจากปีก่อนมีเอฟทีเอ ปี 2535 กับปี 2562 พบว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 2,249% หรือเติบโตกว่า 10 เท่า

“นอกจากตลาดอาเซียนแล้ว เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น จากประเทศคู่ค้าอื่นที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ซึ่งได้ลด/เลิกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรแปรรูปให้ไทยแล้วเช่นกัน จึงอยากเชิญชวนใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าด้วยเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้าอย่างเต็มที่”

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป อันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งตลาดมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากลักษณะสินค้าตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบาย ช่วยรองรับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยสอดแทรกนวัตกรรมและเทคโนโลยี จึงทำให้สินค้าเกษตรแปรรูปไทยครองใจผู้บริโภคเพิ่มขึ้น