ผุด “THAIFEX ไฮบริด” สู้โควิด “ฟู้ดเซอร์วิส” ยังอ่วมชูอาหารไทยปลอดภัย

THAIFEX-ANUGA ASIA 2020
ภาพ : THAIFEX-World of Food Asia

ดัน THAIFEX-ANUGA ASIA 2020 กึ่งออนไลน์ กู้ส่งออกอาหารครึ่งปีหลัง ลดค่าเช่า 20% เพิ่มมาตรการเข้มป้องกันการระบาดโควิด-19 ด้านทียูชี้ตลาดวัตถุดิบร้านอาหารยังอ่วมโควิด สหรัฐติดไวรัสพุ่ง แนะไทยโปรโมตคุณภาพ “Product of Thailand”

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในช่วงครึ่งปีแรก 2563 มีมูลค่า 19,953 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.1% แต่หากแยกเฉพาะหมวดอาหารมีมูลค่า 11,678 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.6% สวนทางกับสินค้าอื่น ๆ

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมร่วมกับหอการค้าไทย และโคโลญเมสเซ่ ประเทศเยอรมนี เตรียมจัดงานแสดงสินค้าอาหารโลก หรือ THAIFEX-ANUGA ASIA 2020 ในรูปแบบใหม่ The Hybrid Edition โดยจะเปิดเจรจาซื้อขายออนไลน์คู่ขนานกับการจัดงานออฟไลน์ในวันที่ 22-26 กันยายน 2563 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal ล่าสุดมีผู้สนใจเข้าร่วมแสดงสินค้าแบบออฟไลน์ 708 บริษัท เป็นผู้ประกอบการไทย 519 บริษัท และตัวแทนผู้ประกอบการต่างชาติในไทย 189 บริษัทจาก 15 ประเทศ

“การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก แต่คณะผู้จัดงานเห็นสัญญาณบวกของการฟื้นตัวจึงได้เดินหน้าจัดงานนี้ขึ้น แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นลักษณะไฮบริดที่ผสานการจัดVirtual Trade Fair และ Virtual-OnlineBusiness Matching นอกเหนือจากการจัดงานแสดงสินค้าตามปกติ นำเทคโนโลยีมาติดต่อกับผู้ซื้อต่างประเทศ ที่ไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ และจัดการแสดงสินค้าเสมือนจริง

THAIFEXPorterVirtual Trade Show ควบคู่ไปด้วย ธีมงานปีนี้เน้น eat responsiblyที่่ไม่ได้มุ่งเน้นรสชาติ แต่ยังลงลึกถึงที่มาวัตถุดิบ กรรมวิธี หรือเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหาร คาดว่าจะมีการสั่งซื้อในงานผ่านออนไลน์ได้ทันที 1,500-2,000 ล้านบาท จากนั้นคาดว่าจะมีการทยอยสั่งซื้อกันเพิ่มขึ้นอีก”

สำหรับมาตรการความปลอดภัยทางคณะผู้จัดงานได้ประสานงานกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการตามแนวทางความปลอดภัยเกี่ยวกับระยะห่างความหนาแน่นของบูท มาตรการด้านสุขภาพและอนามัยต่าง ๆ ทั้งยังมีแพลตฟอร์มการลงทะเบียนล่วงหน้าแบบใหม่ โดยให้ผู้เข้าร่วมงานพิมพ์ป้ายชื่อของตนเองที่เคาน์เตอร์ลงทะเบียนหน้างาน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ลำดับที่ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย มียอดส่งออกกว่า 1.25 ล้านล้านบาท สำหรับธุรกิจอาหารไทยในยุค new normal ทำให้เกิดเทรนด์ธุรกิจใหม่มากมาย เช่น ผู้ค้าปลีกร้านอาหาร หรือแม้แต่ธุรกิจดั้งเดิมที่ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการต่าง ๆ

ให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานจะสามารถเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ที่เข้าร่วมงานครั้งนี้จะได้รับส่วนลดค่าพื้นที่ 20% สิทธิการเข้าร่วมเจรจาการค้ากับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าผ่าน Online, VDO Conference, Facebook Live แนะนำสินค้าด้วย

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมียอดขายอาหารกลุ่มอาหารสำเร็จรูป เช่น ปลากระป๋อง จำหน่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าอีกด้านหนึ่งในส่วนของภัตตาคารและร้านอาหารในต่างประเทศได้รับผลกระทบจากที่ธุรกิจไม่สามารถเปิดให้บริการได้

ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยคลี่คลาย แต่ตลาดส่งออกอย่างสหรัฐยังมีการระบาด ไทยต้องพยายามโปรโมตเรื่องคุณภาพสินค้าจากประเทศไทย (Product of Thailand) ให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจว่าสินค้าไทยมีความปลอดภัย จะสามารถผลักดันการส่งออกครึ่งปีหลังได้ เพราะล่าสุดประชุมกับบอร์ดของบริษัทในสหรัฐทางออนไลน์ ยังชื่นชมว่าไทยจัดการโควิดได้ดีมากเทียบกับสหรัฐ

“ทางผู้จัดงานมั่นใจว่าจะสามารถดูแลเฝ้าระวังการแพร่ระบาดได้ โดยมีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น แต่กลุ่มผู้ที่จะเข้าร่วมงานน่าจะเป็นผู้ประกอบการในประเทศมากกว่า เพราะหากเดินทางมาจากต่างประเทศยังต้องอยู่ในมาตรการกักตัว 14 วัน เมื่อมาถึงไทย และกลับไปถึงประเทศตัวเองก็ต้องกักตัวอีก 14 วัน จะใช้เวลานาน โอกาสที่ต่างชาติจะเดินทางเข้ามาอาจลำบากจึงเน้นผ่านช่องทางออนไลน์”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ภาพของอุตสาหกรรมอาหารยังมุ่งที่สินค้าเพื่อ consumer เป็นหลัก ในไตรมาส 3หากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19เริ่มดีขึ้น ประชาชนมั่นใจออกมาทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น จะช่วยยอดจำหน่ายทางด้านของสินค้าในส่วนของfood service แต่ยังขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญจากด้านการท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่สามารถทำได้ทั่วโลก อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการก็ได้ปรับตัวโดยการลดขนาดบรรจุลง เน้นวิธีการขายผ่านช่องทางออนไลน์และฟู้ดดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้น

“ไทยเฟคเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้ผู้บริโภคทั่วโลกว่าเรายังสามารถจัดได้ด้วยวิธีใหม่ ๆ และอาจเป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคต เพราะขณะนี้ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะกลับมาจัดงานตามปกติได้อีกครั้งเมื่อไร คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งที่ผู้คนจะมีความมั่นใจในการเดินทางข้ามประเทศ แต่งานนี้ก็จะเป็นโอกาสในการเปิดตัวสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศในช่วงนี้ที่ต้องพึ่งพาตลาดในประเทศควบคู่กันไป”