ทางรอด SMEs หลังโควิด

อุสาหกรรมรถยนต์
Photo by WANG Zhao / AFP

หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาประกอบกิจการได้ แต่ธุรกิจก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคทั้งต้นทุนที่ขยับสูง คำสั่งซื้อที่ยังไม่ฟื้นกลับมาเต็ม 100% โอกาสที่ธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะอยู่รอดได้ต้องมุ่งพัฒนาจุดแข็ง ต่อยอดแก้ไขเพนพอยต์ต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดสัมมนาเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด (Cleantech) GCIP Thailand Awards 2019 ภายใต้โครงการ GEF UNIDO Cleantech Pro-gramme for SMEs in Thailand ชี้ช่องทางดำเนินธุรกิจให้กับสมาชิกกว่า 200 ราย

นางพลอยฉัตรชนก วิริยาทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ต้อม คาซาวาจำกัด เผยว่า หลายคนมองว่าการระบาดโควิด-19 คือวิกฤต แต่ในทางกลับกันนี่คือโอกาสที่จะปรับตัว เพราะจะเริ่มเห็นเทรนด์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ซึ่งบริษัทเริ่มนำงานวิจัยสร้างผลิตภัณฑ์ nonchemical จากเหง้ามันสำปะหลัง และฟางข้าว สำหรับดูดซับกลิ่นและสารเคมีตกค้าง พัฒนาเป็นแผ่นรองซับสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งที่ผ่านมาไทยต้องใช้งบประมาณเงินอุดหนุนในการซื้อกว่า 1,400 ล้านบาท/ปี แต่ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ ผู้บริโภคจะลดค่าใช้จ่ายไปได้ถึง 30% และยังสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ด้วย

นายรุ่งกำจร วรรณาไทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คินโซคุ พรีซิชั่น จำกัด ผู้ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรและเครื่องยนต์ กล่าวว่า ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนักมากทั้งออร์เดอร์ที่ลดลงจากการหยุดการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์โควิด-19 สอนให้บริษัทต้องหาพาร์ตเนอร์ที่เก่ง เพื่อที่จะได้เห็นมุมมองใหม่ วิธีคิดรูปแบบใหม่ ดังนั้น คนที่ไม่ใช่ตัวจริงในอุตสาหกรรมจะตายและหายไป คนที่ปรับตัวได้เร็วจะรอด

นายวีรวิษณ์ จิระพิชชานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม ฟุคูโร่ จำกัด ผู้นำเข้าจัดจำหน่าย และให้บริการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ครบวงจร กล่าวว่าบริษัทได้พัฒนาสินค้าใหม่ ทำเครื่องคัดกรองให้มีราคาถูกลง 50% แต่เป็นเทคโนโลยีที่คนไทยพัฒนาเอง เป็นการปรับตัวจากวิกฤตที่เจอ มาเป็นสินค้าที่ต้องใช้ในปัจจุบัน ซึ่งทุกสถานบริการ อาคาร ต้องใช้เครื่องสแกนนี้ และการพัฒนาเพิ่มเครื่องยังสามารถสแกนวัดอุณหภูมิ และระบบยังบันทึกข้อมูลใบหน้า ชื่อ เพื่อใช้ติดต่อค้นหาข้อมูลได้ ซึ่งขณะนี้แพลตฟอร์มสามารถเชื่อมต่อกับระบบมือถือได้

นายคมสันต์ สุขเสนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีพาวเวอร์ เซอร์วิส จํากัดกล่าวว่า บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่ายและออกแบบระบบ automation systemปรับปรุงกระบวนการทำงานของเครื่องจักรงานไฟฟ้าอุตสาหกรรม โควิด-19 ได้สอนให้รู้ว่าการจะผลิตสินค้าในอนาคตจากนี้ไม่ง่ายอย่างเดิม จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าไม่สามารถใช้กฎที่ว่า เอาสินค้านำตลาดได้อีกต่อไป แต่ด้วยพฤติกรรมเปลี่ยน ออร์เดอร์ไม่แน่นอนต้องหาตลาดก่อนผลิตสินค้า

นายมานะผล ภู่สมบุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนรายเล็กปัจจุบันยังไม่สามารถใช้นวัตกรรมได้ แต่สามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสะอาดเพื่อมาพัฒนาสินค้า ซึ่งจะเป็นโอกาสและทางรอดหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ โดยปัจจุบันมีตัวอย่างโครงการที่ใช้นวัตกรรมสะอาดมาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่มากมาย เช่น การผลิตผ้ากันเปื้อนจากพลาสติกชีวภาพที่มาจากอ้อย ข้างโพด มันสำปะหลัง ผ่านการวิจัยพัฒนาสารขึ้นรูปเป็นฟิล์มได้, การใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกลปรับปรุงการกดชักโครก

การใช้เท้าเหยียบแทนการใช้มือ โดยใช้กลไกบีบอัดหีบอากาศและท่อฉีดน้ำลงโถสุขภัณฑ์ชำระ การนำซังข้าวโพดและแกลบข้าวไรซ์เบอรี่ มาสกัดผ่านกระบวนการ micro encapsulation ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เปลี่ยนสีได้ เมื่อพบความผิดปกติของปัสสาวะ หรือนวัตกรรมถุงที่สามารถย่อยสลายได้ใน 6 เดือน-1 ปี หลังการปลูกลงดิน โดยไม่ต้องกรีดหรือแกะถุงออกตอนปลูกต้นไม้ ซึ่งสามารถดูดซับน้ำได้ 15-35% ของน้ำหนักถุง

โครงการโคแทงค์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมการฉีดละอองน้ำในรูปแบบของอะตอม เพื่อลดค่าไฟฟ้าในเครื่องปรับอากาศชนิดติดตั้งผนัง โดยไม่ทำให้เครื่องปรับอากาศเกิดการผุกร่อน, การกำจัดขยะอินทรีย์ที่เกิดจากการที่นำเศษอาหารหรือของเหลือจากอุตสาหกรรมอาหาร โดยการนำแมลงเข้ามากินเศษอาหารและแปรรูปแมลงให้กลายเป็นผงโปรตีนคุณภาพดี ส่งให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และการทำใบสับปะรดเป็นเส้นใย เพื่อใช้ในการทอที่สามารถจดเป็นสิทธิบัตรได้