หวั่นโรงไฟฟ้าขยะอีอีซีสะดุด ชง”บิ๊กตู่” ปลดล็อกPDPหนุนลงทุนลดมลพิษ

โรงไฟฟ้าขยะเ
โรงไฟฟ้าขยะเพื่อการจัดการขยะในจังหวัดระยอง

“กนอ.” ชงแผนด่วนถึง “สุริยะ” เสนอบิ๊กตู่เร่งเคลียร์ขยะตั้งโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้งประเทศ เผยโควตาเหลืออีก 10 เมกะวัตต์ หวั่นรายเก่าทั้ง WHA เจนโก้ SCG เมินด้วยไฟฟ้าเกิน สายส่งไม่มี ด้าน “กกพ.” คาดปี 2563 อาจไม่มีการเปิดประมูลรอปีหน้า ลุ้นเคาะแผน PDP และนโยบายจากว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่หนุน

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ(สายงานปฏิบัติการ 2) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.เตรียมเสนอให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับทราบถึงแผนการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐที่ต้องการให้มีการบริหารจัดการขยะทั้งทั่วไปและขยะอุตสาหกรรม เพื่อลดปัญหามลพิษ โดยแผนนี้จะทำให้สามารถนำขยะอุตสาหกรรมมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า (waste-to-energy) ได้ จากนั้นจะเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป

พร้อมกันนี้ ต้องการให้กระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายสนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ในรูปแบบของเชื้อเพลิงอัดก้อน refuse derived fuel (RDF) ด้วยการรีไซเคิลแบบไม่มีการฝังกลบ (zero landfill) ไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP) เพิ่มเติม ซึ่งโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจะใช้ปริมาณกากอุตสาหกรรมประมาณ 5 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันมีปริมาณขยะอุตสาหกรรม 20 ล้านตัน/ปี ปริมาณนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 2,000เมกะวัตต์ ซึ่งควรเริ่มในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก และอีกไม่กี่ปีจะมีการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น บวกกับเมืองใหม่ ดังนั้นไม่เพียงปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการใช้ไฟจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน

“โควตาส่วนของโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานมีให้ 50 เมกะวัตต์ ลอตแรกเปิดไปแล้วมีเอกชนเข้าร่วมประมูลไปทั้งหมด 31 เมกะวัตต์ เหลืออีกประมาณ 9-10 เมกะวัตต์ จะมีรายใหญ่ ๆ คนไทยทั้งหมด เช่น SCG WHA เจนโก้ เป็นต้น แต่จากนั้นก็ไม่มีการทำต่อ เพราะกำลังการผลิตไฟมันเกิด รัฐไม่รับซื้อบวกกับปัญหาสายส่งที่จะขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แม้ว่าจะมีนโยบายว่าขยะอุตสาหกรรมให้นำไปเผาไม่ให้ใช้วิธีฝังกลบก็ตาม เราต้องดันเรื่องนี้ให้เร็วและต้องให้ได้”

อย่างไรก็ตาม เอกชนรายเดิมที่เคยลงทุนไว้แล้วนั้น อาจไม่มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่ม เนื่องจากติดปัญหาที่รัฐยังไม่เปิดการรับซื้อไฟจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่ม ทำให้กำลังการผลิตเหลือ โรงงานที่ตั้งเดิมก็มีขั้นตอนการขออนุญาตต้องใช้เวลา ดังนั้น มีความเป็นไปได้มากว่าผู้ผลิตรายเดิมอาจไม่ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่ม แต่ต้องหาพื้นที่ตั้งใหม่ ต้องทำ EIA และ EHIA ซึ่งก็จะใช้เวลาอีกหลายปี แต่อาจทันกับแผน PDP และที่สำคัญคือนโยบายกำหนดให้ตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องยากพอสมควร แต่ทาง กนอ.จำเป็นต้องทำเรื่องขยะอุตสาหกรรมให้ได้ไม่ช้าก็เร็วที่สุด แม้ว่า กกพ.จะยังไม่เปิดประมูลในปี 2563 นี้ก็ตาม

ปัจจุบันปริมาณขยะในประเทศไทย โดยรวมเฉลี่ยปริมาณขยะทั้งหมด 49.8 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นขยะชุมชน 27.8 ล้านตันต่อปี และขยะอุตสาหกรรม 22 ล้านตันต่อปี เป็นขยะอุตสาหกรรมไม่อันตราย 20.8 ล้านตันต่อปี ขยะอุตสาหกรรมอันตราย 1.2 ล้านตันต่อปี โดยกากอุตสาหกรรมที่มีถึงปีละ 22 ล้านตัน สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์

นายคมกริช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กกพ.ยังคงสนับสนุนพลังงานทางเลือก แต่เนื่องจากว่าต้องพิจารณาตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้น การขอให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ต้องให้สอดรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) เบื้องต้นได้กำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ร้อยละ 30 นั้นซึ่งต้องยอมรับว่าพีดีพียังไม่แล้วเสร็จซึ่งให้โควตาจำนวน 40 เมกะวัตต์ (MW) ขณะนี้อยู่ในระบบ 30 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม


อย่างไรก็ตาม อีก 10 เมกะวัตต์ ปีนี้เนื่องจากว่าสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าและสถานการณ์พลังงานโลกน่าจะยังไม่ใช่เวลาที่ควรเปิดรับซื้อเพิ่ม เพราะไฟฟ้าค่อนข้างล้นระบบ กกพ.ก็ห่วงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจชะลอ และจะเห็นว่าพลังงานทางเลือกขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะปีนี้ไม่ใช่เพียงแค่ไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม จะเห็นว่าพลังงานลมเปิดยากมาก และชัดเจนว่าไม่มีแผนการพัฒนาทั้งปีนี้แน่นอน